Sunday, May 4, 2014

ไข้หัดสุนัขคืออะไร




ไข้หัดสุนัข หรือ canine distemper เป็นโรคที่เกิดขึ้นในสัตว์ตระกูลสุนัข ไข้หัดเป็นโรคชนิดที่มีผลต่อประชากรสุนัขในโลกมากที่สุดโรคหนึ่ง
  
สุนัขที่โตเต็มที่ที่ติดเชื้อนี้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จะตาย ส่วนในลูกสุนัขอัตราการป่วยตายประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ในสุนัขบางตัวที่ป่วยและมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ สุนัขอาจจะไม่ตายจากการติดเชื้อ แต่มักจะมีความผิดปกติ (ตลอดไป) เช่น เกี่ยวกับระบบประสาท เนื่องจากเชื้อไวรัสทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาท รวมทั้งประสาทรับกลิ่น การฟัง หรือแม้กระทั่งเกี่ยวกับการมองเห็น ส่วนอาการที่ทำให้เกิดอัมพาตบางส่วน หรือทั้งตัวพบได้น้อย ส่วนโรคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปอดชื้นเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก มักเกิดแทรกซ้อนขึ้นเมื่อสุนัขมีความอ่อนแอจากการติดเชื้อไวรัสไข้หัด
ลูกสุนัข หรือสุนัขที่มีอายุน้อยมักจะไวต่อการติดเชื้อ แต่โรคนี้ก็สามารถเกิดขึ้นในสุนัขที่มีอายุมากได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่า  นั่นหมายความว่าโรคไข้หัดสุนัขพบได้ในสุนัขทุกอายุ  

 แมวเป็นสัตว์ที่ไม่ไวต่อการติดเชื้อไข้หัดสุนัข ส่วนโรค "ไข้หัดแมว หรือ feline distemper" เป็นโรคที่แตกต่างไปจากโรคไข้หัดสุนัข เนื่องจากเกิดจากเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน โรคตับอักเสบชนิดติดต่อเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบในสุนัข โรคนี้ในบางครั้งสามารถพบได้ว่าสุนัขมีการติดเชื้อพร้อมกับโรคไข้หัดสุนัขได้ ทั้งโรคไข้หัดสุนัขและโรคตับอักเสบติดต่อในสุนัขไม่ติดคน


 ไข้หัดมีผลต่อสุนัขอย่างไร   

โรคไข้หัดสุนัขเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงสำหรับสุนัขเกิดจากเชื้อไวรัสขนาดเล็ก เชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขติดต่อได้ด้วยการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากตาและจมูกของสุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้ แต่การสัมผัสกับน้ำปัสสาวะและอุจจาระของสุนัขที่ป่วยสามารถทำให้ติดโรคนี้ได้เหมือนกัน

สุนัขปกติสามารถติดเชื้อได้โดยที่ไม่ได้สัมผัสกับสุนัขที่เป็นไข้หัดสุนัขก็ได้ คอกสุนัข หรือบริเวณที่สุนัขเล่น หรือ ที่อยู่ของสุนัขป่วยอาจจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปยังสุนัขปกติได้ การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขสามารถแพร่ไปได้โดยทางอากาศและวัตถุสิ่งของต่างๆ

อาการป่วยของสุนัขที่ป่วยด้วยโรคไข้หัดสุนัขมักไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ด้วยเหตุนี้ในบางครั้งทำให้วินิจฉัยได้ช้า ทำให้การรักษาทำได้ช้ากว่าปกติ หรือละเลยโรคนี้ไป เนื่องจากในบางครั้งสุนัขจะมีอาการเหมือนกับเป็นหวัดอย่างรุนแรง สุนัขส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักมีไข้สูงและสุนัขบางตัวอาจจะพบอาการของหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบและมีอาการกระเพาะอาหารอักเสบและลำไส้อักเสบอย่างรุนแรงได้

 อาการที่พบได้ในระยะแรกๆ ของการติดเชื้อไข้หัดสุนัข คือ เจ้าของอาจจะพบว่าสุนัขมีอาการตาอักเสบ ไม่สู้แสง มีขี้ตา
 มาก สุนัขมีน้ำหนักตัวลด ไอ อาเจียน และมีน้ำมูก บางครั้งอาจจะพบว่าสุนัขมีอาการท้องเสียร่วมด้วย การติดเชื้อในระยะ
 ท้ายๆ มักจะพบว่าเชื้อไวรัสมีการเข้าไปอยู่ในระบบประสาท ทำให้สุนัขมีอาการอัมพฤก มีอาการชักกระตุก เกร็งได้ สุนัข
 ที่ป่วยด้วยโรคนี้มักจะซึม ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกินอาหารด้วย

ในบางครั้ง หรือในสุนัขบางตัวสุนัขป่วยอาจจะแสดงอาการไม่มาก หรือไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ เช่น สุนัขอาจจะมีไข้เพียงเล็กน้อยเป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ หรือถ้ามีภาวะปอดชื้น หรือมีการอักเสบของลำไส้ หรืออาการอื่นๆ เกิดขึ้น มีผลทำให้การฟี้นตัวของสุนัขในกลุ่มนี้ยาวนานออกไป (สุนัขกลุ่มนี้มักไม่ตาย) ปัญหาทางระบบประสาทมักจะพบได้ภายหลังจากที่สุนัขฟื้นตัวจากการป่วย (หลายสัปดาห์)  

ในสุนัขบางรายเชื้อไวรัสจะทำให้มีการเจริญของ tough keratin cells ของฝ่าเท้า ทำให้ฝ่าเท้าหนาและแข็ง โรคไข้หัดสุนัข
เป็นโรคที่พบได้อย่างแพร่หลายและอาการป่วยจากการติดเชื้อค่อนข้างผันแปร มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ดังนั้นควร
นำสุนัขที่สงสัยว่าป่วยไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจและวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องเป็นการดีที่สุด


 การป้องกัน

สุนัขที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขมักจะมีภูมิต้านทานที่เพียงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อไวรัส สุนัขจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสุนัขมักจะตายจากการติดเชื้อไวรัสนี้ การป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค แต่ยังไม่มีวัคซีนชนิดใดเลยที่สามารถจะให้ภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิตของสุนัข ดังนั้นสุนัขจึงต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นประจำทุกปี

ลูกสุนัขที่เกิดมาจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ในระดับหนึ่ง ภูมิคุ้มกันนี้เป็นภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาจากแม่สุนัขหลังจากที่คลอดออกมาแล้ว ผ่านทางนมน้ำเหลือง (ไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังคลอด)  ดังนั้นระดับภูมิคุ้มกันของลูกสุนัขจึงขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแม่สุนัข โดยทั่วไปมักมีระดับไม่สูงมากนัก ภูมิคุ้มกันที่รับจากแม่สุนัขผ่านทางนมน้ำเหลืองนี้จะลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อลูกสุนัขอายุประมาณ 8 วันระดับภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่จะลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง และลดลงประมาณ 3 ใน 4 หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ ที่อายุประมาณ 2 สัปดาห์

 ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้กับลูกสุนัขจึงมักกระทำเมื่อระดับภูมิคุ้มกันจากแม่หมดไป ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันในกระแสเลือด แต่โดยทั่วไปมักจะทำการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อลูกสุนัขอายุประมาณ 8 สัปดาห์

 
แหล่งที่มา  ขอบคุณข้อมูล D D  จาก  http://www.vet.ku.ac.th/library-homepage/db_directory/dog/disease/disease.htm , http://www.gotoknow.org/posts/150286
เครดิตภาพ  http://www.cutestpaw.com/images/do-your-ears-hang-low-23/

No comments:

Post a Comment