Saturday, March 8, 2014

โรคในช่องปากที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยง




คุณรู้ไหมว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรสุนัขและแมวที่มีอายุมากกว่า 3 ปี จะแสดงอาการทางช่องปากให้เห็น

เพราะปัญหาในช่องปากและฟันของสัตว์ควรมีการเอาใจใส่ดูแลไม่ต่างจากมนุษย์ ซึ่งปัญหาในช่องปากที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยง ได้แก่ การเกิดหินปูนที่ตัวฟัน โรคเหงือกอักเสบ และเนื้องอกในช่องปาก เป็นต้น

สิ่งที่สุนัขและแมวแตกต่างจากคนคือ พวกเขาไม่สามารถที่จะหยิบแปรงสีฟันขึ้นแปรง หรือทายาสีฟันในปากด้วยตัวเอง ดังนั้นเราที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น ควรจะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของสัตวเลี้ยงที่เรารัก เพราะวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันโรคเหงือกและโรคฟันดังกล่าวคือ การดูแลทำความสะอาดในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ

บางครั้งเราอาจมองไม่เห็นว่าลำพังแค่การอักเสบของฟันจะเป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิดโรคที่ร้ายแรงตามมาได้อย่างไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว แบคทีเรีย ที่อยู่ในช่องปากจะไปตามกระแสเลือดเข้าสู่อวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างไม่ยากเย็น ทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังของอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย เช่น โรคลิ้นหัวใจอักเสบ หรือโรคตับ ซึ่งอาจทำให้สัตว์เสียชีวิตในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่าภัยจากโรคดังกล่าวสามารถป้องกันได้ หากเราตรวจพบอาการดังกล่าวได้ก่อนในระยะแรกและทำการรักษาอย่างถูกวิธี โดยเริ่มต้นจากการสังเกตของเจ้าของ จากนั้นหากมีความผิดปกติควรรีบนำสัตว์มาพบสัตวแพทย์เพื่อรักษาก่อนจะสายเกินไป


คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า สัตว์เลี้ยงของคุณมีปัญหาสุขภาพช่องปาก

1. การดูภายนอก เช่น มีกลิ่นปาก กลิ่นเหม็น เบื่ออาหาร อยากกินแต่ไม่ยอมกินอาหารเม็ดหรือขนมที่แข็ง น้ำหนักลดลง น้ำลายไหลยืด น้ำลายมีเลือดหรือหนองปน น้ำมูกไหลใสจนถึงข้นเขียว เป็น ๆ หาย ๆ รักษาไม่หายขาดเสียที หรือมีฝีที่ใต้ตา

2. การดูภายในปาก เช่น สีฟันเปลี่ยน เหงือกบวม เหงือกแดง มีหนองที่เหงือก ฟันหลุด มีก้อนเนื้อ มีแผลที่กระพุ้งแก้มหรือลิ้น มีหินปูนเกาะตัวฟัน โดยหินปูนจะมีสีน้ำตาลและแข็ง ซึ่งเราสามารถแบ่งระดับการเกิดหินปูนอย่างง่าย ๆ ได้ดังนี้

  • ระดับที่ 1 หิน ปูนน้อย มีหินปูนเกาะน้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของตัวฟัน อาจเห็นติดเป็นเส้นสีน้ำตาลที่ขอบเหงือก สีของเหงือก อาจยังดูปกติหรือแดงเล็กน้อย สามารถรักษาด้วยการขูดหินปูน
  • ระดับที่ 2 หินปูนปานกลาง มีหินปูนเกาะน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของตัวฟัน อาจเห็นติดเป็นก้อนสีน้ำตาล สีของเหงือกแดง และบวมอักเสบ สามารถรักษาด้วยการขูดหินปูน
  • ระดับที่ 3 หินปูนมาก มีหินปูนเกาะน้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของตัวฟัน สีของเหงือกแดงมาก บวมและอาจมีเลือดออกเมื่อกินอาหารแข็งหรือแปรงฟัน เริ่มมีเหงือกร่น ฟันบางซี่หินปูนเยอะหรือคมจนทำให้เกิดแผลที่กระพุ้งแก้ม ซึ่งในระดับนี้ การรักษาด้วยการขูดหินปูนอาจไม่เพียงพอ อาจต้องถอนฟัน รักษารากฟันและทานยาปฏิชีวนะ
  • ระดับที่ 4 หินปูนรุนแรง มีหินปูนเกาะมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของตัวฟัน มีเหงือกร่น เหงือกแดงมาก บวมและอาจมีหนอง พบครีมสีขาวๆ บนรอยต่อระหว่างเหงือกและฟันส่งกลิ่นเหม็นมาก ลมหายใจมีกลิ่นแรง ซึ่งในระดับนี้ไม่สามารถรักษาด้วยการขูดหินปูนได้ ต้องถอนฟัน และทนยาปฏิชีวนะ

 
อย่างไรก็ตาม อาการในสัตว์แต่ละตัวอาจมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับแต่ละซี่ฟันด้วย ซึ่งสัตวแพทย์จะให้การรักษาที่เหมาะสมตามแต่ระดับที่พบ ทว่าหากเจ้าของพบตั้งแต่ระดับ 1-2 อย่าง รอช้าควรรีบพามาขูดหินปูนเพื่อป้องกันโรคเหงือกและการติดเชื้อจากในช่องปากไปสู่ร่างกาย

ทั้งนี้ เจ้าของควรหมั่นเปิดปากสัตวเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็กเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย และง่ายต่อการสังเกตอาการตั้งแต่ระยะแรก โดยจำไว้ว่า โรคฟันสามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมา และขอให้เจ้าของสัตว์อย่าละเลย ขอให้นำสัตว์มาหาเราที่เป็นสัตวแพทย์ที่พร้อมจะช่วยเหลือคุณและสัตว์เลี้ยงอย่างเต็มความสามารถ

โดย : ทีมงานกระปุกดอทคอม
แหล่งที่มา  http://www.108health.com/108health
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment