Friday, February 21, 2014

โรคที่พบบ่อยในสุนัข




ต่อไปนี้เป็นอาการผิดปกติเบื้องต้น ที่อาจหาทางป้องกันได้ ถ้ารู้แต่เนิ่นๆ แต่ถ้าทำตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว สุนัขไม่ดีขึ้น ควรรีบนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์
 


โรคเกี่ยวกับปาก
สุนัขของคุณอาจมีปัญหาเกี่ยวกับปาก ถ้าสุนัขมีอาการต่อไปนี้ น้ำลายไหล ตะกุยปากบ่อยๆ ทำท่าเคี้ยวอยู่ตลอดเวลา เคี้ยวอาหารช้าลง ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น 

เพื่อหลีกเลี่ยงอาการผิดปกติเหล่านี้ คุณอาจต้องคอยเปิดปากสุนัขสำรวจหาสิ่งผิดปกติ และแปรงฟันให้สุนัขอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง โดยใช้แปรงสีฟันนุ่มๆ (แปรงสีฟันเก่าๆ ที่ไม่ใช้แล้วก็ได้) จุ่มน้ำเกลือแปรงให้กับสุนัข หรืออาจใช้ยาสีฟันสำหรับสุนัข โดยเฉพาะก็ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันทาร์ทาร์ ซึ่งเป็นสารสีเหลืองๆ ที่มักเกาะอยู่บนฟันของสุนัข โดยมันจะเป็นตัวการทำให้เกิดโรคเหงือก ก่อให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียทำลายฟัน และยังทำให้ปากเหม็นอีกด้วย 

แต่ถ้าพบสิ่งผิดปกติติดฟันสุนัข ให้ใช้ด้ามช้อนเล็กๆ แซะออก หรือจะใช้คีมหนีบออกก็ได้ ถ้าสุนัขมีเหงือกบวมแดงบริเวณรอยต่อของเหงือกกับฟัน เมื่อเคาะฟันเบาๆ จะพบว่า ฟันเริ่มโยก แสดงว่า สุนัขเริ่มเป็นโรคเหงือกอักเสบ ให้ใช้น้ำเกลืออุ่นๆ ล้างปากให้สุนัขบ่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้นำไปพบสัตวแพทย์ ในกรณีที่สุนัขมีคราบทาร์ทาร์มากๆ อาจต้องพึ่งสัตวแพทย์ โดยแพทย์จะวางยาสลบให้สุนัข และใช้เครื่องมือกำจัดคราบออกถอนฟันที่เสียแล้วทิ้ง เพื่อไม่ให้รากฟันอักเสบ และติดเชื้อในช่องปาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคไซนัส เลือดเป็นพิษ หรือแม้กระทั่งโรคไต นอกจากนี้ อาการผิดปกติข้างต้น ยังอาจเกิดจากปากเป็นแผล มีหนอง เนื้องอกและทอนซิลอักเสบ ซึ่งในกรณีนี้ต้องให้สัตวแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย และรักษา


โรคเกี่ยวกับตา
ถ้าสุนัขเอาเท้าเขี่ยตา บ่อยๆ ให้สังเกตตาสุนัขว่า มีน้ำตา ขี้ตา หรือมีแผ่นฟิล์มบางๆ เคลือบตา อยู่หรือไม่ ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย อาจใช้น้ำยาล้างตาของมนุษย์ล้างให้ทุก 2-3 ช.ม. หรืออาจใช้ยาฆ่าเชื้อแบบครีมป้ายใต้ตาก็ได้ 

ในการหยอดตาสุนัขเพื่อความปลอดภัย ควรถือที่หยอดตาให้ขนานกับตาสุนัข ในสุนัขที่ยังอายุไม่มาก การเกิดขี้ตาเป็นจำนวนมาก อาจหมายถึงการติดเชื้อไวรัสที่ตา ส่วนการมีน้ำตาไหลในตาข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง อาจเกิดจากท่อน้ำตาอุดตัน ขณะที่ฟิล์มบางที่เคลือบตาอยู่ อาจเกิดจากการอักเสบของกระจกตา ถ้าหากหยอดตา 1 วันแล้ว อาการต่างๆ ยังไม่หายไป ควรนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์

โรคหวัด
ถ้าจมูกสุนัขคุณแห้งแตก ไม่ชื้นเหมือนที่เคยเป็น และมีอาการอื่นที่คล้ายๆ คนเป็นหวัด แสดงว่า สุนัขอาจเป็นหวัด วิธีบรรเทาอาการขั้นต้น คือ อาบน้ำอุ่นๆ ให้กับสุนัข แล้วรีบเช็ดตัวให้แห้ง หลังจากนั้นให้ทาใต้จมูกด้วยขี้ผึ้งป้องกันหวัด ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรปรึกษาสัตวแพทย์

 
โรคหู
อาการผิดปกติเกี่ยวกับหู ที่สุนัขมักแสดงออก คือ การสั่นหัวไปมา การเกาหู ลมหายใจเหม็น มีขี้หูมากผิดปกติ การเอียงหัวไปข้างใดข้างหนึ่ง และการที่สุนัขแสดงอาการเจ็บ หรือไม่สบายเมื่อโดนสัมผัสหู เมื่อพบอาการผิดปกติดังกล่าว ให้รีบใช้น้ำมันเกลือแร่กรอกใส่หูสุนัข ไม่ควรใช้ยาผงฆ่าเชื้อ เพราะจะไปหมักหมมในช่องหู อาจทำให้หูระคายเคืองยิ่งกว่าเดิม ถ้าสุนัขของคุณมีแนวโน้มที่จะเกิดหูอักเสบ ควรทำความสะอาดหูให้สัปดาห์ละครั้งโดยใช้คอตตอนบัดชุปน้ำมันมะกอก เช็ดภายในช่องหูที่คุณมองเห็นได้ เพื่อขจัดสิ่งสกปรกภายในช่องหู สำหรับสุนัขที่มีขนปุกปุยบริเวณใบหู เช่น พูเดิล หรือ เคอรี่ บลู อาจจำเป็นต้องถอนขนบริเวณใบหูออกบ้าง การอักเสบของหูอาจเกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในช่องหู เช่น เมล็ดหญ้า ซึ่งจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้เอาออก บางครั้งอาจเกิดจากตัวไรเข้าไปอาศัยในช่องหู ทำให้เกิดอาการคัน และนำไปสู่การติดเชื้อในที่สุด

นอกจากนี้ สำหรับสุนัขพันธ์ที่มี หูขนาดใหญ่ ทำให้ระบายอากาศไม่ดี เช่น สเปเนี่ยน การอักเสบของหูยังอาจเกิดจาก เหงื่อ ความสกปรก ที่หมักหมมในช่องหู ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้เร็วกว่าสุนัขทั่วๆ ไป ซึ่งอาการผิดปกติเหล่านี้ สัตวแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเกิดจากเชื้ออะไร และให้ยาที่ถูกต้องกับโรค การรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำให้โรคที่เป็นหายง่ายกว่า การปล่อยให้เป็นแบบเรื้อรัง ซึ่งยาอาจใช้ไม่ได้ผล และจำเป็นต้องพึ่งการผ่าตัด

 
โรคผิวหนัง
ถ้าสุนัขแสดงอาการคันคะเยอ มีผื่นแดง ขนร่วงเป็นหย่อมๆ หรือเป็นแผลแดงแบบเรื้อรัง แสดงว่า สุนัขเริ่มเป็นโรคผิวหนัง โรคผิวหนังมักจะเกิดจากอาการแพ้ ให้ลองสังเกตว่า สุนัขมีเห็บ ไร หมัด หรือไม่ ถ้ามีก็จัดการกำจัดให้เรียบร้อย โดยอาจใช้วิธีดึงออก (ถ้าไม่มากนัก) หรือปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อหาวิธีกำจัดที่ปลอดภัย (สำหรับทั้งคน และสุนัข) บางครั้งการให้สุนัขไดเอ็ทอาหารอาจเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังได้ เพราะสุนัขได้รับสารอาหารไม่ครบ ทำให้ขนร่วง และมีสุขภาพไม่ดี ดังนั้น การจะให้สุนัขไดเอ็ทอาหาร จึงควรศึกษาความต้องการอาหารของสุนัขให้ถ้วนถี่ก่อน แล้วเลือกอาหารให้เหมาะกับสุนัข อีกสาเหตุที่อาจทำให้เกิดโรคผิวหนัง คือ อาการแพ้ อันนี้เจ้าของสุนัขต้องหมั่นสังเกตว่า สุนัขแพ้อะไร เช่น ถ้าสุนัขมักจะเกิดอาการโรคผิวหนังในบางฤดู ก็ต้องสังเกตว่า ช่วงเวลานั้นๆ มีอะไรที่ผิดไปจากช่วงเวลาอื่นๆ หรือไม่ ตัวอย่างเช่น สุนัขมักจะมีอาการคัน ในฤดูหนาว อาจเกิดจากละอองหญ้าที่ปลิวมากับลมหนาว เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้สุนัขและคุณอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ปราศจากโรคภัยที่เป็นพาหะมาจากสัตว์เลี้ยงของคุณ ให้คุณปลอดภัยขึ้นมาเมื่อเวลาต้องอยู่ใกล้ชิดกับสุนัขค่ะ



แหล่งที่มา  http://www.108health.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/marinsky3/beagles-shibas/

No comments:

Post a Comment