Sunday, July 27, 2014

เมื่อสุนัขแสดงอาการคัน



เจ้าของสุนัขหลายท่านคงเคยเห็นพฤติกรรม กัดแทะ เลียตามตัว อุ้งเท้า เกาหู เอาหน้าข้างตัวถูกับผนังกำแพง ซึ่งอาการเหล่านี้คือพฤติกรรมการคันของสุนัขโดยส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาโรคผิวหนัง

อาการคันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสุนัข และสร้างความกังวลใจกับเจ้าของสุนัขจำนวนมาก หัวข้อในวันนี้จะสรุปสาเหตุของอาการคันในสุนัขแบ่งออกเป็น 5 สาเหตุ ได้แก่ 


1 ความไม่สมดุลทางโภชนาการ

เนื่องจากอาหารมีส่วนสำคัญที่ทำให้ขนและผิวหนังแข็งแรง นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพ ถ้าสุนัขได้สารอาหารที่ไม่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้ผิวหนังแห้ง ติดเชื้อได้ง่ายก่อให้เกิดปัญหากับผิวหนังและเกิดการคัน ดังนั้นควรให้สุนัขกินอาหารที่มีคุณภาพและครบสัดส่วนที่ร่างกายต้องการ อาจให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่ได้มาตรฐาน หรือปรุงอาหารเองโดยเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ นอกจากนี้สามารถเสริมกลุ่มวิตามิน หรือ โอเมก้า 3 และ โอเมก้า 6 จะช่วยให้ผิวหนังแข็งแรงและเงางามมากขึ้น

 
2. ปรสิตภายนอก

ปรสิตที่มองเห็นด้วยตาเปล่าได้แก่ เห็บ หมัด เหา สุนัขจะคันบริเวณที่โดนกัด มีตุ่มสะเก็ดขึ้นตามตัว นอกจากนี้หมัดยังก่อให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนังจากน้ำลายหมัด ส่วนปรสิตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่ ตัวไร ที่พบได้บ่อยคือ
 
ไรขี้เรื้อนเปียก (demodex) สุนัขมีอาการคันเนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง ขี้เรื้อนเปียกไม่ใช่โรคติดต่อกันในสุนัข  สาเหตุหลักเกิดจาก ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ป่วยด้วยโรคอื่นเรื้อรัง หรือโรคฮอร์โมน
 
ไรขี้เรื้อนแห้ง (sarcoptes) สุนัขจะมีอาการคันมาก เป็นโรคติดต่อระหว่างสุนัขที่อยู่รวมกัน และทำให้คนที่สัมผัสเกิดอาการแพ้ได้ การรักษาจะง่ายและใช้ระยะเวลาสั้นกว่าขี้เรื้อนเปียก
 
ไรในหู (otodectes) สุนัขจะมีอาการคันหู และพบขี้หูเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้ม
 
การวินิจฉัยควรให้สัตวแพทย์ขูดตรวจผิวหนัง ดูปรสิตผ่านกล้องจุลทรรศน์

 
3. การติดเชื้อที่ผิวหนัง

ได้แก่ เชื้อรา แบคทีเรีย ยีสต์ ในการติดเชื้อรามักพบในกลุ่ม dermatophytes ซึ่งสุนัขจะไม่ค่อยคัน แต่เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์ด้วยกันและสัตว์เลี้ยงสู่คนได้
 
เชื้อยีสต์ พบได้ในผิวหนังปกติและไม่ก่อให้เกิดอาการทางผิวหนัง แต่ถ้ามีสาเหตุอื่นๆ มากระตุ้น เช่น ภูมิแพ้ ฮอร์โมน ยีสต์จะเพิ่มจำนวนและก่อให้เกิดโรคผิวหนังได้ ลักษณะส่วนใหญ่ คือ ผิวหนังมันเยิ้ม มีกลิ่นและคัน ผิวหนังดำและหนาตัว           

ในสุนัขปกติ เชื้อแบคทีเรีย จะไม่ก่อให้ปัญหาโรคผิวหนังเช่นเดียวกับยีสต์ เพราะร่างกายสุนัขมีกลไกป้องกันผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้ามีปัจจัยอะไรก็ตามที่มาทำลายผิวหนัง ได้แก่ ภูมิแพ้ การอักเสบ แผลหรือรอยถลอก ซึ่งส่งผลต่อกลไกการป้องกันของผิวหนัง แบคทีเรียเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนและสามารถเข้าสู่ผิวหนังเกิดการติดเชื้อตามมา สุนัขจะเกิดอาการคัน

 
4. ภูมิแพ้ผิวหนัง

ภูมิแพ้เป็นโรคเฉพาะตัวของสุนัข สารก่อภูมิแพ้จะทำให้เกิดโรคผิวหนังกับสุนัขที่แพ้เท่านั้น สุนัขอีกตัวที่ไม่เป็นภูมิแพ้จะไม่แสดงอาการแม้ว่าจะเลี้ยงด้วยอาหารและสิ่งแวดล้อมที่เหมือนกัน ภูมิแพ้ในสุนัขแบ่งเป็น 4 สาเหตุหลัก ได้แก่
 
ภูมิแพ้อาหาร สุนัขมักมีประวัติเคยได้รับอาหารชนิดนั้นมาก่อน สารที่ก่ออาการแพ้มักเป็นโปรตีนหรือวัตถุกันเสียที่อยู่ในอาหาร เช่น อาหารเม็ดสำเร็จรูป เนื้อวัว นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไก่ ไข่ ถั่วเหลืองและข้าวโพด ซึ่งการวินิจฉัยภูมิแพ้อาหารนั้นควรได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์โดยจะมีขั้นตอนและการทดสอบให้ปฏิบัติ
 
ภูมิแพ้หมัด  เกิดจากหมัดกัดและมีการปล่อยน้ำลายจากตัวหมัดเข้าสู่ผิวหนังสุนัข ซึ่งน้ำลายหมัดประกอบด้วยสารคล้ายฮิสตามีน (สารกระตุ้นการอักเสบ) ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง สุนัขจะมีอาการคัน อักเสบและก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาได้
 
ภูมิแพ้สิ่งสัมผัส เกิดจากสุนัขมีการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งที่กระตุ้นการแพ้ เช่น ที่นอน สารเคมีในน้ำยาถูพื้น สนามหญ้า โดยจะพบบริเวณที่มีขนปกคลุมน้อย ได้แก่ ซอกขาหนีบ ด้านล่างลำตัว ใต้ท้อง ฝ่าเท้า
ภูมิแพ้ละอองในอากาศ  สามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้ที่ผิวหนัง โดยสูดเอาละอองสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสร ละอองจากพืช ไรฝุ่น ซากมดซากแมลง เชื้อรา เป็นระยะเวลาหนึ่งจนเกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย มักพบในสุนัขอายุ 1 - 3 ปี นอกจากนี้กรรมพันธุ์ก็มีส่วนในการเกิดภูมิแพ้ละอองอากาศ การวินิจฉัยโรคนี้ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อไม่ให้สับสนกับสาเหตุอื่นและสามารถทราบสาเหตุการแพ้โดยการทำ intradermal skin test


5. พฤติกรรม

พบในสุนัขที่ไม่ชอบอยู่นิ่งและเบื่อง่าย เจ้าของจะเห็นสุนัขเลียเท้าหรือปลายขาบ่อยๆ สาเหตุเกิดจากความเครียด รู้สึกไม่ได้รับความสนใจ รู้สึกเบื่อ โดนกักขัง ปัญหานี้สามารถจัดการได้โดย พาสุนัขออกกำลังกาย หากิจกรรมทำร่วมกันระหว่างสุนัขกับเจ้าของ เปลี่ยนอาหารให้เกิดความน่าสนใจ หาของเคี้ยวเล่นหรือหาสุนัขตัวอื่นมาเป็นเพื่อน

การรักษาโรคผิวหนังให้ได้ผลดีควรมีการวินิจฉัยหาสาเหตุโดยสัตวแพทย์ เพราะโรคผิวหนังที่มีอาการเหมือนกันอาจเกิดจากสาเหตุแตกต่างกัน หรือเกิดหลายสาเหตุร่วมกันได้ เจ้าของสุนัขก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยในการช่วยวินิจฉัย โดยสัตวแพทย์จะทำการซักประวัติเจ้าของที่พาสุนัขมา เช่น ระยะเวลาที่เกิดอาการ ประวัติการใช้ยา อาหารและที่อยู่อาศัย อาการผิวหนัง บริเวณที่เริ่มเป็น ดังนั้นถ้าเจ้าของทราบประวัติของสุนัขเป็นอย่างดีก็จะทำให้สัตวแพทย์วินิฉัยได้ง่ายขึ้น

  
บทความโดย
คุณหมอลาวัลย์ หล้าสุพรหม

No comments:

Post a Comment