Thursday, May 15, 2014

ปัญหาสารพัน เมื่อ น้องหมา เริ่มชรา



          ในปัจจุบันนี้น้องหมาส่วนใหญ่มักถูกเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนหรือเป็นเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ฉะนั้นไม่ว่าอาหารการกิน หรือการดูแลสุขภาพในด้านต่าง ๆ จึงถือว่าดีขึ้นกว่าในสมัยก่อนมาก และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้องหมามีอายุยืนขึ้น (หมายเหตุ สุนัขมีอายุขัยที่สั้นกว่าคนมาก ดังนั้นถ้าเทียบในช่วงเวลาที่เท่ากัน สุนัขจะแก่กว่าคนเราหรือพูดง่าย ก็คือ แก่เร็วกว่าคนนั่นเอง ถ้านับอายุโดยเฉลี่ยแล้วสุนัขจะแก่เร็วกว่าคนเราประมาณ 7 เท่า โดยที่สุนัขพันธุ์ใหญ่มีแนวโน้มที่จะแก่เร็วกว่าสุนัขพันธุ์เล็ก)

          และเมื่อน้องหมาเริ่มเข้าสู่วัยชรา เขาย่อมไม่กระฉับกระเฉงน่ารักเหมือนในวัยเด็ก และเริ่มจะมีปัญหาสุขภาพตามมามากมาย ดั้งนั้น ความเข้าใจและการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากเจ้าของจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ น้องหมาวัยชราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขจนวันสุดท้ายของชีวิต

 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อน้องหมาเริ่มชรา

         
เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชราร่างกายของน้องหมาจะมีอัตราการเผาผลาญอาหารที่น้องลง ทำให้อ้วนง่าย นอนมากขึ้น มีระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ทำให้ป่วยง่าย และน้องหมาบางตัวก็อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ(ทำให้มีอาการทางระบบประสาทได้)

          **
การทำงานของระบบทางเดินอาหาร เริ่มตั้งแต่ช่องปากจะมีการสะสมของคราบหินปูนมากขึ้น ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคในปาก และนำไปสู่การติดเชื้อที่อวัยวะภายในอื่น ๆ ตามมา ลำไส้เคลื่อนที่ และดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง รวมทั้งการทำงานของตับลดลง

         
** การทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ เริ่มจากไตมีเลือดไปเลี้ยงลดลง จึงทำหน้าที่ได้ไม่ดี ทำให้มีอากาสปัสสาวะบ่อยขึ้น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จนอาจต้องปัสสาวะในบ้าน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และน้องหมาตัวผู้อาจมีปัญหาเรื่องต่อมลูกหมากโต ทำให้เกิดอาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย เบ่งถ่ายลำบาก เป็นต้น

 
         
** การทำงานของระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพลดลง ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง

         
** การทำงานของหัวใจเริ่มผิดปกติ อาจทำให้มีอาการของโรคหัวใจ อ่อนแรง และเหนื่อยง่าย หอบหายใจ ท้องบวมน้ำ เป็นต้น

         
** การทำงานของระบบประสาท อาจมีอาการสมองเสื่อม มีเนื้องอกในสมอง และอื่น ๆ

         
นอกจากนี้ การมองเห็น การดมกลิ่น และการได้ยินก็มีประสิทธิภาพลดลง เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้น้องหมาไม่อยากลุกเดินไปไหน และมีความอยากกินอาหารลดลงทั้งสิ้น

         
สำหรับอาการของภาวะสมองเสื่อม เช่น นอนมากขึ้น ไม่ค่อยมีแรง หรือหงุดหงิด บางครั้งมักถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นธรรมดาของหมาแก่และถูกปล่อยไว้จนเป็นปัญหาพฤติกรรมที่มากขึ้นๆ จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและน้องหมาแย่ลงได้

 
การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในรายที่สมองเสื่อม


          1. หลงทิศทาง
         
         
** หลงทางในสถานที่คุ้นเคย

         
** จำคนที่คุ้นเคยไม่ได้

         
** ความตื่นตัวลดลง ไม่มีจุดมุ่งหมาย

          2.การตอบสนองน้อยลง

          **
ไม่กระดิกหางต้อนรับหรือสนใจเจ้าของเหมือนเคย

          **
ไม่เรียกร้องความสนใจหรือขอให้เล่นด้วย

         
** ไม่ตอบสนองต่อคำสั่ง

          3. รูปแบบการนอนหลับเปลี่ยนไป

         
นอนกลางวันมากขึ้น หรือ นอนน้อยลงในตอนกลางคืน

          4. ขับถ่ายไม่เป็นที่และกลั้นปัสสาวะไม่ได้

 
การดูแลและรักษาน้องหมาวัยชรา

          ในด้านโภชนาการควรให้อาหารที่เหมาะสมกับวัย ไม่มีปริมาณโปรตีนหรือไขมันที่มากเกินไป และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ซึ่งช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระได้ดี รวมทั้งอาจมีการให้อาหารเสริม เช่น โอเมก้า 3 (ช่วยในการทำงานของระบบประสาท) เป็นต้น

          หมั่นพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ และในรายที่มีปัญหารุนแรงก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางยาร่วมด้วย

          ถึงแม้น้องหมาในวัยชราจะไม่น่ารักเท่ากับน้องหมาในวัยเด็กแล้วก็ตาม แต่อย่างว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดก็คือ ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่จากเจ้านายอันเป็นที่รัก ฉะนั้นได้โปรดดูแลพวกเขาให้ดีจนถึงวันสุดท้ายนะคะ


คอลัมน์ dogcare โดย สพ.ญ.ปิยกาญ โรหิตาคนี
แหล่งที่มา  Dogazine, http://pet.kapook.com/view8821.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/explore/golden-puppy/

No comments:

Post a Comment