Wednesday, January 1, 2014

ทำไงดีเมื่อหมา "“ช๊อค "”



           เมื่อท่านพบว่าหมาของท่านแสดงอาการซีดตามเยื่อชุ่มต่างๆ เช่น เหงือก ลิ้น เปลือกตา ฯลฯ อวัยวะที่เคยมีเลือดเลี้ยงเป็นสีแดง หรือชมพูเรื่อๆ กลับกลายเป็นสีม่วง น้ำเงิน หรือขาวราวแผ่นกระดาษ ชีพจรเต้นอ่อน และแผ่วช้ากว่าเดิม หากใช้นิ้วกดบริเวณเยื่อชุ่มจะเป็นรอยซีดตามแรงกด ซึ่งตามปกติแล้ว เมื่อปล่อยคืนมันจะกลับแดงชุ่มดังเดิมอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น หมาหายใจเร็ว ถี่ขึ้นเกินกว่า 40 ครั้ง ต่อนาที และเนื้อตัวเย็นเฉียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผิวหนังตรงขาหนีบ ซึ่งอุณหภูมิร่างกายถ้าวัดทางทวารหนักต่ำกว่า 100 องศาฟาเรนไฮท์ ด้วยอาการทั้งหมดนี้ทำให้สรุปได้ว่าหมาของท่านกำลังช๊อคอันเป็นสภาวะวิกฤต ของร่างกาย ส่อไปในเค้าว่าจะเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันใกล้ สาเหตุของการช๊อคในหมานี้มีดังนี้ คือ


            การเสียเลือดอย่างมาก การถูกกระทบกระเทือนกระแทกกระทั้นอย่างรุนแรง หมาเสียของเหลวออกจากร่างกาย จำนวนมาก เช่น อาเจียน ท้องร่วง หรือถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ฯลฯ การติดเชื้ออย่างรุนแรง หัวใจล้มเหลว หรือปัญหาระบบการหายใจผิดปกติ ฯลฯ ผลก็คือ อวัยวะสำคัญขาดออกซิเจนและอาหารไปเลี้ยงโดย เฉพาะอย่างยิ่งสมอง เป็นเหตุให้เซลล์ตาย ทั้งนี้เนื่องจากหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตไม่อาจส่งเลือดที่มีอาหาร และออกซิเจนไปได้ตามปกตินั่นเอง ประกอบกับไม่มีการนำเอาของเสียที่ขับถ่ายจากเซลล์ต่างๆ ฝากมากับ เลือดที่ไหลเวียนพาไปซักฟอก กำจัดพิษจากสิ่งขับถ่ายเหล่านั้นด้วย


             หลักการในการปฐมพยาบาลหมาที่กำลังช๊อคจึงต้องทำอย่างรีบด่วนเพื่อช่วยแก้ไขบรรเทาเหตุเฉพาะหน้า ก่อนนำส่งสัตวแพทย์โดย 

1.  จัดการให้หมาหายใจสะดวกขึ้น เช่น เช็ดหรือดูดเอาเสมหะออกจากปากและจมูก ตลอดจนช่วยผายปอด ฯลฯ
2.  ตรวจวัดชีพจรตลอดเวลา
3.  ห้ามเลือดที่ปรากฏเท่าที่จะทำได้
4.  สร้างความอบอุ่นแก่ตัวหมาให้มากที่สุด
5.  พยายามจัดทำให้หมานอนราบทางด้านข้างและหัวต่ำกว่าส่วนตัวเล็กน้อย เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมอง

สิ่งที่ควรระวังหรือไม่ควรทำเมื่อหมาช๊อค คือ 

1.  ห้ามขยับท่าหมาอย่างรวดเร็วหรือรุนแรง เพราะจะทำให้ความดันโลหิตผิดไปมากขึ้น เช่น ต่ำลงกว่าเดิมจนถึงขีดอันตราย
2.  ห้ามจับต้องตัวหมาที่ช๊อคเนื่องจากถูกกระแสไฟฟ้าดูด เช่น กัดสายไฟฟ้าอยู่ในปาก ห้ามผลีผลามเข้าสัมผัสตัวหมา เพราะชะถูกช๊อตจนช๊อคตามไป ต้องตัดไฟฟ้าเสียก่อนเมื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วให้นำส่งสัตวแพทย์อย่างรีบด่วนที่สุด
 

ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร
แหล่งที่มา  http://tvma.tripod.com/pet/b_shock.html

No comments:

Post a Comment