Friday, December 6, 2013

เซนต์เบอร์นาร์ด (St. Bernard)




ประวัติ

เซนต์เบอร์นาร์ด เป็นสุนัขที่มีขนาดใหญ่ที่สุด น้ำหนักมากที่สุดแต่ใจดีที่สุด ตามสมญานามเรียกขานว่า สุนัขนักบุญ ( SAINT ) มีประวัติความเป็นมาว่า นักบุญเซนต์ เบอร์นาร์ด เดอเมนธอน ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเทือกเขาแอลป์ โดยมีสุนัขคอยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ติดอยู่ในหิมะ หรือหลงทางหรือนอนหนาวอยู่ท่ามกลางลานหิมะ

เซนต์เบอร์นาร์ด สุนัขนักบุญแห่งสวิสเซนต์เบอร์นาร์ด (St. Bernard) สุนัขแสนรู้ที่เป็นที่รู้จักและโด่งดังมากจากภาพยนตร์เรื่อง Beethoven เป็น สุนัขขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา แต่ในความใหญ่โตกลับมิได้ดูดุร้ายหากแต่ยังน่ารัก ใจดี แถมหน้ายังดูเศร้าๆ อีกต่างหาก จากตำนานที่เล่าต่อๆ กันมาทำให้เราทราบว่า สุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขนักบุญ (SAINT) ที่อยู่กับบาทหลวง และมีหน้าที่ในการกู้ภัยผู้คนมากมายจากพายุหิมะ ในสมัยโบราณ สุนัขเซนต์เบอร์นาร์ด มีประโยชน์อย่างมากโดยการเป็นผู้ช่วยเหลือ นำทางคนบนพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมหนาแน่นโดยมันจะนำทางไปสู่จุดหมายที่คนต้อง การได้และให้มันช่วยขนของ 

ดังกล่าวมาแล้วในขณะเดียวกัน Saint Bernard ก็มีบทบาทในการเป็นสุนัขอารักขาเฝ้าฝูงปศุสัตว์ ตลอดจนเฝ้าบ้านให้แก่เจ้านายได้เหมือนสุนัขใหญ่พันธุ์อื่นๆ ทั่วไป สุนัข เซนต์เบอร์นาร์ด สันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากสุนัขขนาดใหญ่จากทวีปเอเชีย โดยชาวโรมันเป็นผู้นำไปแพร่พันธุ์ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์และเกิดการผสมกันเองจนได้สุนัขพันธุ์ ST.BERNARD ขึ้นมา 

ชาวสวิสฯ มักนิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้้ไว้คอยช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้ายระหว่างการเดินทาง ซึ่งส่วนมากนักเดินทางมักถูกหิมะถล่มและถูกฝังอยู่จุดใดใด เมื่อพบผู้เคราะห์ร้ายแล้วมันจะขุดและดึงผู้เคราะห์ร้ายขึ้นมา หลังจากนั้นมันจะนอนแนบผู้เคราะห์ร้ายเพื่อให้ความอบอุ่นและเลียจนผู้เคราะห์ร้ายได้สติ ส่วนสุนัข เซนต์เบอร์นาร์ด อีกตัวหนึ่งจะวิ่งเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อตามคนมาช่วย 

สุนัข เซนต์เบอร์นาร์ด ที่มีชื่อเสียงและเป็นตัวอย่างสุนัขที่คนกล่าวถึงมานานคือ BARRY มันสามารถช่วยคนได้ถึง 40 คน BARRY เสียชีวิตในปี 1814 และประวัติของ BARRY ได้รับการจารึกไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติกรุงเบอร์น ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 

 
ลักษณะทั่วไป 
สุนัข เซนต์เบอร์นาร์ดสุนัข เซนต์เบอร์นาร์ด จัดอยู่ในกลุ่ม WORKING สุนัข ที่มีโครงสร้างใหญ่ ใจดี และมีนัยน์ตาเศร้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสุนัขพันธุ์นี้ รูปร่างสูงเด่นได้สัดส่วน ดูแข็งแรงบึกบึน เต็มไปด้วยพละกำลัง มีกล้ามเนื้อสมส่วนแข็งแรง หัวกะโหลกใหญ่ หน้าผากกว้าง หูตก บริเวณคอใหญ่จนดูเหมือนว่ามีคอสั้น หน้าอกมีขนาดกว้างใหญ่ ช่วงขาแข็งแรง กระดูกขาใหญ่สมดุลกับตัว อุ้งเท้ามีขนาดใหญ่ มี 2 ชนิด คือ ชนิดขนสั้นและชนิดขนยาว เซนต์ เบอร์นาร์ด สามารถมีชีวิตนานถึง 9 ปี มีน้ำหนัก ประมาณ 73-110 กิโลกรัม สูง 70-90 เซนติเมตร ขนยาวหนา มีสีน้ำตาลแดง ขาว และดำ ปนกัน ทั้งร่างเป็นเอกลักษณ์ 

นิสัย
มีนิสัยเป็นมิตร ภักดี ฉลาด รักสนุก ช่างประจบประแจง น่ารัก (โดยเฉพาะกับเด็กๆ) และชอบคนมากๆ บุคคลิกมีตั้งแต่เงียบขรึมจนถึงทะลึ่งตึงตังอยู่ไม่เป็นสุข ชอบการฝึกฝนและการพาเข้าสังคม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันทั่วโลก

อาหารและการเลี้ยงดู 
สุนัข เซนต์เบอร์นาร์ด จะเติบโตอย่างรวดเร็วในขวบปีแรก จนดูงุ่มง่ามในบางครั้งคุณควรต้องคอยดูแลน้ำหนักของลูกสุนัขไม่ให้เพิ่มเร็วมากเกินไป เพราะจะเป็นการเพิ่มแรงกดและเป็นภาระต่อกระดูกและข้อต่อที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ โดยให้ลูกสุนัขออกกำลังกายด้วยการเล่นขณะอยู่บ้าน แต่ต้องมีรั้วบ้านที่แข็งแรง และสูงอย่างน้อย 2 เมตร และ ด้วยขนาดที่ใหญ่โตมโหฬารของ สุนัข เซนต์เบอร์นาร์ด เขาจึงเป็นสุนัขที่กินอาหารมาก เรียกว่า ถ้าคิดจะเลี้ยงล่ะก็ ต้องเลี้ยงให้สุด ทั้งเรื่องอาหาร ความเป็นอยู่ กินก็ต้องดีไม่อย่างนั้น จะมีปัญหาเรื่องไขข้อ เรื่องสุขภาพ นอนก็ต้องนอนห้องแอร์เพราะขนเยอะ 

รายละเอียดยุบยิบแบบนี้ ใครที่คิดจะเลี้ยงเจ้าสุนัขพันธุ์นี้นอกจากจะมีความพิศวาทเป็นทุนเดิมแล้ว ต้องดูด้วยว่าเราสามารถรับภาระอันใหญ่หลวงและสามารถเลี้ยงเขาให้ดีได้หรือไม่ จะได้ไม่เป็นปัญหาตามมาภายหลัง


โรคและการป้องกัน 
สุนัข เซนต์เบอร์นาร์ด มักมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ เนื่องจากมีอัตราการเติบโตเร็วมาก ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก หากไม่ได้กินอาหารที่ถูกต้อง การเลี้ยงแบบไม่ถูกสุขลักษณะ สารอาหารไม่เหมาะสม และการไม่ได้ออกกำลังกาย สาเหตุเหล่านี้ล้วนทำให้อายุมันสั้นและเจ็บกระเสาะกระแสะ กินเงินเจ้าของ 

โดยมีโรคประจำพันธุ์ เซนต์เบอร์นาร์ด คือ โรคข้อ โรคผิดปกติของตา โรคลมบ้าหมู โรคหัวใจ ฯลฯ โรคข้อสะโพกเสื่อม โรคนี้จะเป็นปัญหาที่พบกันค่อนข้างมาก อาการแรกเริ่ม สุนัข จะมีอาการเจ็บปวดขาหลังเวลาเดิน จึงไม่ชอบขยับเขยื้อน อาการจะมากขึ้นจนสุนัขไม่ยอมลุกขึ้นมาเดินอีกเลย ลักษณะจะแตกต่างกับอาการเจ็บขาธรรมดา คือ ถ้าสุนัขเจ็บขาธรรมดาจะเจ็บข้างเดียว แต่ถ้าเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมจะเจ็บทั้ง 2 ข้าง สาเหตุอาจเกิดจากได้จากสายพันธุ์ และพันธุกรรม 

ซึ่งในส่วนของพันธุกรรม ก็คือความเสี่ยงต่อโรคที่สุนัขมีอยู่เป็นทุนเดิม ประกอบกับความไม่รู้ของผู้เลี้ยง อาหารที่ให้สุนัขกินจึงไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงต้องดูแลเรื่องอาหาร ปรับความสมดุลทางโภชนาการ ให้กินอาหารที่หลากหลาย สุนัขที่โตเต็มที่แล้วควรให้อาหารแค่วันละมื้อ 

โรคลมบ้าหมู จะทำให้สุนัขชักบ่อยๆ และควบคุมการทรงตัวไม่ได้ 
การแก้ไขเบื้องต้น ควรหาสถานที่ให้สุนัขอยู่อย่างสงบในห้องที่มืดๆ จนกว่าอาการชักจะทุเลาลง ในระหว่างที่สุนัขชักอย่าได้เข้าไปจับตัวเด็ดขาด เพราะมันอาจหันมากัดได้ ทั้งนี้ ยารักษาโรคลมบ้าหมูอาจช่วยลดอาการชักให้น้อยลงได้ แต่ควรปรึกษาการใช้ยาจากสัตวแพทย์ 
สาเหตุของโรคชัก เกิดจากพยาธิในลำไส้เป็นตัวการสำคัญ 

โรคหัวใจ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในโครงสร้างและหน้าที่ของหัวใจ หรือความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งอาการ ของสุนัขที่มีปัญหาโรคหัวใจจะมีอาการซึมเศร้า น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อยลง ท้องกาง ไอแห้งๆ และมักไอเวลากลางคืน มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง หายใจลำบาก เหงือกซีด เป็นลมหมดสติ ทั้งนี้ สุนัขที่เป็นโรคหัวใจ สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่จะต้องดูแลเรื่องการให้ยาอย่างใกล้ชิด ควรงดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้สัตว์เหนื่อย เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และสิ่งสำคัญคือ ระวังในเรื่องการให้อาหารและน้ำที่มีส่วนผสมของเกลือ ต้องมีปริมาณเกลือต่ำ 

อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจบางชนิดสามารถป้องกันได้อย่างเหมาะสม เช่น ฉีดวัคซีนโรคพยาธิหนอนหัวใจอย่างสม่ำเสมอ และไม่ขยายพันธุ์สุนัขที่เป็นโรคหัวใจ เนื่องจากโรคหัวใจบางชนิดอาจถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ และหากสุนัขแม่พันธุ์เป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงในระหว่างการคลอดลูกด้วย 

นอกจากนี้การดูแลรักษาช่องปากในสุนัขก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากสุนัขมีหินปูนมาก หรือมีการอักเสบในช่องปาก อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคติดเชื้อในหัวใจได้ 

โรคต้อกระจก มักเกิดกับ สุนัข ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป โดยจะมองเห็นแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว ซึ่งสุนัขยังพอมองเห็นได้ แต่ถ้าแก้วตาขุ่นเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้มองไม่เห็น เนื่องจากแสงไม่สามารถผ่านเข้าไปยังจอรับภาพได้ ทั้งนี้สาเหตุเป็นเพราะโรคเบาหวาน หรือได้รับบาดเจ็บ มีแผลที่ตา 

อย่างไรก็ตาม โรคต้อกระจกอาจจะพบได้ในสัตว์อายุน้อยตั้งแต่เกิดจนถึง 3 ปี เนื่องจากเป็นมาตั้งแต่เกิด สำหรับการรักษา ควรรีบพาสุนัขของคุณไปพบสัตวแพทย์


แหล่งที่มา กระปุกดอทคอม
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment