Sunday, December 9, 2012

ทำไมสุนัขถึงต้องตัดหาง



โดยปกติแล้วสุนัขเกิดมาส่วนใหญ่ย่อมมีหาง  แต่จะต่างกันตรงความยาว สั้น ตรง ขอด คด งอ แตกต่างกันไปตามพันธุ์  แต่คนเรามักคุ้นตากับสุนัขบางพันธุ์ที่ไม่มีหาง เช่น ร็อตไวเลอร์, บอกเซอร์, พุดเดิล  ซึ่งก็ไม่ใช่สุนัขพันธุ์ไม่มีหางตามธรรมชาติแต่เป็นเพราะคนเราตัดหางสุนัข

ก่อนอื่นต้องบอกถึงประโยชน์ของหางก่อน  หางสามารถใช้รักษาสมดุลขณะเคลื่อนไหวหรือใช้สื่อสารโดยแสดงภาษาท่าทาง  แต่ในสมัยก่อนผู้คนยังไม่สนใจในสวัสดิภาพสัตว์    โดยเริ่มจากสมัยกลางในสหราชอาณาจักรและยุโรปตะวันตก 

มีหลายทฤษฎีหลายความเชื่อว่า "การตัดหาง" :

o ช่วยป้องกันพิษสุนัขบ้า 
o ช่วยป้องกันอันตรายจากการบาดเจ็บบริเวณหลัง 
o ช่วยให้สุนัขวิ่งได้เร็วขึ้น 
o ช่วยไม่ให้ได้รับบาดเจ็บบริเวณหางขณะต่อสู้ 

หรือกรณีสมัยก่อนสุนัขบางพันธุ์โดยเฉพาะที่พัฒนาพันธุ์ขึ้นมาเพื่อการใช้งาน มักถูกตัดหางด้วยความเชื่อที่ว่า

o เกิดความคล่องตัว
o ลดการบาดเจ็บจากการทำงาน (เฝ้ายาม.กีฬากัดกัน)   

แต่ในปัจจุบันสุนัขใช้งานเหล่านี้ถูกเลี้ยงไว้ในบ้านแม้ไม่ต้องตัดหางโอกาส ที่จะบาดเจ็บก็แทบไม่มี

การตัดหางที่ทำกัน คือ ตัดส่วนหางให้เหลือความยาวมากน้อยตามความต้องการ  โดยใช้ยางรัดที่หาง ใช้มีด กรรไกรตัดผ่านชั้นผิวหนังที่มีระบบประสาทรับความรู้สึกอันไวต่อความเจ็บปวด ผ่านกระดูกอ่อน กระดูกหางโดยไม่ได้วางยาสลบใดๆ  

ถ้าถามว่าสุนัขเจ็บไหมนั้น  ต้องตอบเลยเจ็บแน่นอนเพราะลูกสุนัขมีการพัฒนาระบบประสาทรับความเจ็บปวด สมบูรณ์แล้ว  ซึ่งเราสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดของลูกสุนัขได้จากเสียงร้องและการดิ้นทุรนทุราย  แล้วหลังจากการตัดยังต้องระวังถึงแผลสามารถติดเชื้อขึ้นได้และสามารถลุกลาม เข้าสู่ร่างกายทำให้สุนัขถึงแก่ความตายได้

ดังนั้นในหลายประเทศขณะนี้ได้ออกกฎหมายห้ามการตัดหางสุนัข เช่น นอร์เวร์ สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ ในสหราชอาณาจักรกำหนดให้การศัลยกรรมตัดหางถ้าไม่ใช่เพื่อการรักษาแล้วถือว่าเป็นเรื่องผิดจรรยาบรรณเป็นการกระทำที่สมควรแก่การประนาม
 
จะเห็นได้ว่าการตัดหางนั้นเป็นเพียงการตอบสนองความต้องการของเจ้าของ  แต่ในทางความเป็นจริงนั้นธรรมชาติได้สร้างหางของสุนัขเพื่อประโยชน์แก่สุนัขอยู่แล้ว ดังนั้น หมอดาวจึงอยากให้ผู้ที่คิดจะตัดหางสุนัขนั้นตระหนักให้มากและช่วยกันสนับสนุนและยอมรับสุนัขพันธุ์ให้มีหางครบถ้วน  แต่ก็ต้องทำใจ ให้คุ้นกับสุนัขบางพันธุ์ที่มีหาง เช่น พุดเดิ้ล, ร็อตไวเลอร์ เป็นต้น สุดท้ายก็ขอให้หางอยู่คู่กับสุนัขต่อไปเถอะนะคะ

บทความโดย
หมอดาว   :   สพ.ญ.ภัสส์ณศา เขาท่าเพชร
 
 www.clinicraksad.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/whatever1234545/?redirected=1


No comments:

Post a Comment