Saturday, October 6, 2012

ทำอย่างไร....เมื่อน้องหมาท้องเสีย



น้องหมาที่เพิ่งได้มาใหม่ๆ มักมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย หรืออาเจียนได้ง่ายๆ  ลูกสุนัข ในช่วงอายุประมาณ 2 เดือน เป็นช่วงที่มีภูมิ ต้านทานโรคที่ได้รับจากแม่ กำลังจะหมดไป หากมีการได้สัมผัสกับเชื้อโรคและร่วม กับ การมีภาวะเครียดจากการย้ายบ้าน , การมีพยาธิในร่างกาย , การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม , เปลี่ยนเจ้าของหรือการเปลี่ยนอาหารก็อาจ ทำให้ลูกสุนัข แสดงอาการป่วยหลังจากหลังมาอยู่บ้านใหม่ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกได้ 

นอกจากนั้น ในช่วงหลังจากลูกสุนัขหย่านมไปแล้ว (อายุมากกว่า 1 เดือน) ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกินนมอีก แต่เจ้าของที่เห็นว่าลูกสุนัขไม่ค่อยยอมกินอาหารจึงป้อนนมให้แทนนั้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกสุนัขท้องเสียได้ เพราะนมที่คนกิน (นมวัว , นมแพะและนมจากสัตว์ชนิดอื่น ) จะมีปริมาณน้ำตาล โปรตีน ไขมันและสารอาหาร อื่นๆไม่เหมือนนมจากแม่สุนัข ทำให้ เกิดการรบกวนการทำงานของระบบทางเดินอาหารของลูกสุนัข เกิดปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน หรือท้องเสียตามมา

ลักษณะการให้อาหารก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ในลูกสุนัขหลังจากหย่านมใหม่ๆ ระบบทางเดินอาหารจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่นัก ดังนั้นการให้อาหารสำหรับลูกสุนัขที่ถูกต้อง จึงควรแบ่งอาหารเป็น มื้อย่อยๆ ประมาณ 3 มื้อ (เช้า กลางวัน เย็น) เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหาร และลำไส้ทำงานหนัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปรกติของการย่อยอาหารได้ และอาจมีการผสมน้ำอุ่นลงในอาหารเพื่อให้ลูกสุนัขเคี้ยวง่ายขึ้น (ในกรณีที่ลูกสุนัขยังไม่คุ้นเคย กับการกินอาหารเม็ด ) ควรจะดูแลเรื่องการทำความสะอาดให้เป็นอย่างดี ไม่ควรตั้งอาหารทิ้งไว้นานๆ เพราะความชื้นประกอบกับอากาศของบ้านเราที่ร้อนจะทำให้ การ เจริญเติบโตของเชื้อโรค ต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ถ้าลูกสุนัขกินเข้าไปก็จะทำให้ท้องเสียได้ น้ำดื่มก็เช่นกันควร หมั่นดูแลความสะอาดและเปลี่ยนน้ำทันทีเมื่อเห็นว่าเริ่มสกปรก

โรคลำไส้อักเสบในสุนัข

ลำไส้อักเสบเป็นกลุ่มอาการในระบบทางเดินอาหารที่ เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาการลำไส้อักเสบที่ อันตรายที่สุดคือ เชื้อพาร์โวไวรัส โรคลำไส้อักเสบจากพาร์โวไวรัส นั้นมีอาการในช่วงแรกที่ไม่ชัดเจนมักจะคล้ายกับอาการท้อง เสียและอาเจียนธรรมดา แต่อาการดังกล่าวจะไม่ลดลง ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ และอาการยังรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อผ่านไป 2 -7 วัน ช่วงนี้อาการต่างๆจะเห็น ได้ชัดเจน เช่น อุจจาระกลายเป็นสีคล้ำ มีกลิ่นคาวเลือดเนื่องจากเชื้อไวรัสได้ไปทำลายชั้นผนัง ของลำไส้ในชั้นที่ลึกมากเกิดการลอกหลุดของผนังลำไส้ และมีเลือกออกในทางเดินอาหาร แม้ว่าจะอดอาหารไปแล้วการถ่ายเป็นมูกเลือดก็ยังมีอยู่ ระยะนี้จะเป็นระยะที่จะยืนยันได้ว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบจริงโดยการเจาะเลือด และนับจำนวน เม็ดเลือดขาว ซึ่งจะพบว่าลดลงกว่าปรกติถึง เกือบ 10 เท่า (เหลือประมาณ 1000 - 2000 cells / 1 ml ) นอกจากนี้การตรวจหาทางภูมิคุ้มกันสามารถตรวจได้เร็วกว่าแต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก

อาหารกับการรักษาโรคลำไส้อักเสบ

เมื่อสุนัขเป็นลำไส้อักเสบ ไม่ว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อชนิดใดการรักษาจะอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน คือ เริ่มจากการงดอาหารชั่วคราวเป็น ระยะเวลา 6-12 ชั่วโมง เพื่อพักระบบทางเดินอาหาร แล้วสัตวแพทย์จึงจะเริ่มทำการรักษา โดยการรักษาจะเป็นการประคองสภาวะของสุนัข ให้กลับเป็นปรกติ ไม่ว่าจะเป็นการให้สารน้ำ การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือการรักษาอื่นๆ แล้วแต่อาการของสุนัขแต่ละตัว เช่น ให้ยาลดการอาเจียน , ยาเคลือบทางเดินอาหาร ร่วมกับการจัดการด้านโภชนาการ เช่น การให้อาหารที่ย่อยได้สูง ช่วยสร้างความแข็งแรงของผนังทางเดินอาหาร ช่วยให้ร่างกายเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพื่อให้สุนัขกลับมาสุขภาพดีดังเดิมได้เร็วที่สุด


คัดลอกข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก    www.petnutritioncenter.com
เครดิตภาพ  https://strictlypassion.wordpress.com/tag/toy-dog/



No comments:

Post a Comment