Monday, August 13, 2012

โรคพิษสุนัขบ้า


ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหมดโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำเป็นโรคที่น่าสยดสยองที่สุด เพราะเท่าที่ปรากฏมา ผู้ที่ป่วยมีอาการโรคนี้ทุกรายจะถึงแก่ความตาย สำหรับรายที่สงสัยกันว่าเป็นโรคนี้จริงหรือเปล่าวิธีที่จะป้องกันเพื่อไม่ ให้เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็คงจะมีได้ 2 ทางคือ
 
1. ทำอย่างไร เราจึงจะไม่ต้องเสี่ยงกับการได้รับเชื้อ เชื้อนี้อยู่ที่ใดเข้าสู่ร่างกายเราได้อย่างไร เราจะมีวิธีกำจัดหรือทำให้โอกาสเสี่ยงนี้น้อยลงได้อย่างไร
 
2. เมื่อได้รับเชื้อ ก็จะต้องรีบเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เกิดขึ้นต่อต้านกับเชื้อที่ ได้รับเข้าไปก่อนหน้าที่เชื้อจะเดินทางเข้าสู่สมองจนเกิดจากโรค

เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

          โรคนี้เป็นโรคของสัตว์หลายชนิดที่สำคัญที่สุดคือ หมา รองลงมาก็เป็นแมว นอกจากนั้นก็พบได้ในสัตว์อื่นๆ เช่น ลิง ค่าง ชะนี หมู ม้า วัว ควาย แพะ แกะ
สำหรับค้างคาวและสัตว์พวกแทะ เช่น หนูมีรายงานว่าพบเชื้อได้ในในบ้านเราเท่าที่คุณหมอ ศิริ สวัสดิโกศล แห่งสถาบันวิจัยไวรัส จับสัตว์พวกนี้มาตรวจหลายร้อยตัวยังไม่พบเชื้อ
ประเทศ ที่เป็นแดนระบาดของโรคนี้ มีคนตายปีละหลายร้อยคน ได้แก่ ไทย อินเดีย ฟิลิปปินส์ เนปาน ปากีสถาน อินโดนีเซีย และประเทศเพื่อนบ้านของเรา ยกเว้น มาเลเซีย ประเทศไกลๆออกไปก็ยังมีโรคนี้ ได้แก่ ประเทศแถวอเมริกาใต้ เช่น เม็กซิโก อาร์เจนตินา ประเทศในอาฟริกา และเอเชียตะวันออกกลาง

          ในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสยังพบโรคนี้ได้ ในสหรัฐฯ คนได้รับเชื้อโดยโดนค้างคาวกัด หรือได้จากสัตว์ป่า เช่นตัวแรคคูณ, สกั๊งค์, หมาป่า, หมาจิ้งจอก ในฝรั่งเศสรวมทั้งแถวยุโรป ตัวนำโรคที่สำคัญคือ หมาจิ้งจอก ประเทศที่ถือว่าปลอดจากโรคหมาบ้า เดินไปไหนๆไม่ต้องกลัวว่าจะมีหมาหรือแมวบ้ามาดอดกัด ก็คือ อังกฤษ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่ก็ไม่มีโรคนี้ ยกเว้นตรงแถวที่ต่อกับชายแดนไทย สัตว์พวก งู นก เป็ด ไก่ ปลา ไม่พบเป็นโรคนี้

เชื้อติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร

          เชื้อจะออกมากับน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคนี้เข้าสู่ทางบาดแผล อาจจะเป็นรอยกัด รอยข่วน หรือรอยถลอก เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากการเลีย ถ้าผิวหนังดีๆ เชื้อจะผ่านเข้าไม่ได้

เมื่อไหร่จึงจะต้องฉีดวัคซีนป้องกัน

          คำตอบที่สั้นที่สุดก็คือ เมื่อได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เราต้องรีบฉีดกันไว้ก่อนที่จะเป็นโรคนี้
ปัญหา ในทางปฏิบัติก็คือ เรามักจะไม่รู้ว่าได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือเปล่า คนที่รักหมา รักแมว เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว ก็คงจะโดนเลีย ข่วนหรือกัดเวลาเล่นกับมันเสมอ บางทีไปวัด ไปโรงพยาบาลไปเที่ยวก็อาจจะมีหมาหรือมีแมวมากัด ข่วน หรือเลีย

จะหนีห่างจากโรคนี้ได้อย่างไร

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหมาบ้าให้กับหมาและแมว ที่เลี้ยงไว้ทุกตัว ตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป และต้องฉีดให้ทุกปี วัคซีนสำหรับสัตว์ราคาประมาณเข็มละ 20 -40 บาท สุดแต่ปริษัท ใครที่เลี้ยงไว้หลายๆตัวน่าจะหัดฉีดยาให้เองแล้วซื้อยามาฉีดเพราะค่ายากับ ค่ารถที่พาหมาไปฉีดยาจะใกล้เคียงกัน
หมาแมวที่ฉีดยาครบแล้วทุกปีถือว่า ปลอดภัย แต่ถ้าบังเอิญเกิดไปโดนหมาหรือแมงบ้ากัดเข้าอีก เพื่อให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นก็ควรจะฉีดกระตุ้นเสียอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องเล็กๆ อย่างนี้ถ้าเราละเลยไม่สนใจ มันเกิดบ้าขึ้นมาลูกเด็กเล็กแดงทุกคนในบ้านจะต้องฉีดยา จะเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งเจ็บตัว เสียทรัพย์ และสุขภาพจิตเสื่อมไปนาน

2. อย่าเล่นกับหมาหรือแมวที่ไม่รู้จัก คนไข้โรคหมาบ้าหลายคนตายเพราะสงสารลูกหมาป่วยที่อยู่ในถนน กลัวมันจะโดนรถทับ ไปอุ้มมันให้พ้นทางแล้วโดนแว้งกัดเอา แต่ไม่ได้สนใจถึงโรคหมาบ้า ผู้ปกครองครูควรกำชับเด็กถึงเรื่องนี้ ถ้าโดนหมาหรือแมวกัด ข่วน เลีย ให้เด็กรีบมาบอกเสมอ หมาหรือแมวกัดคนพร้อมๆกัน วันเดียวกันหลายๆคนร้อยละร้อยเป็นสัตว์บ้า

3. ถ้าเลี้ยงไม่ไหวต้องใจแข็ง พวกเราส่วนใหญ่มักจะเวทนาสัตว์ เห็นอดยากไม่มีเจ้าของอยู่แถวบ้าน ก็มักจะให้ทานเศษอาหารพอประทังชีวิตเสมอ วิธีนี้เป็นการส่งเสริมโรคหมาบ้าไว้ในละแวกบ้าน ถ้าเราเลี้ยงสัตว์ก็ต้องรับสัตว์นั้นเป็นของเรา ให้ที่พักพึ่งพิงแก่มัน และหาทางฉีดยากันหมาบ้าให้มันด้วย

ในกรุงเทพมหานคร ประมาณประชากร 5 ล้านคน จะมีหมาและแมวที่เลี้ยงไว้อย่างละ 8 -9 แสนตัว ยังไม่นับรวมสัตว์จรจัดซึ่งไม่อาจประมาณจำนวนได้ หน่วยงานที่ทำการรณรงค์เรื่องนี้ก็คือ งานควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า กรุงเทพ มหานคร ซึ่งจับสุนัขไร้เจ้าของมาทำลายปีละ 4 -5 หมื่นตัว มิฉะนั้นจำนวนประชากรหมาแมวและคนคงจะใกล้เคียงกัน และปัญหาโรคหมาบ้าก็จะมากขึ้น เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนี้ควรได้รับคำสรรเสริญและได้รับความร่วมมือช่วยเหลือ จากพวกเรา ไม่ควรช่วยสัตว์ปกปิดแอบซ่อนไว้ก่ออันตรายกับตัวเราเองภายหลังหมาหรือแมวบ้า ตัวหนึ่งจะแพร่เชื้อกระจายโรคให้กับสัตว์อื่นอีกหลายตัวแถมคนอีกหลายคน

          ในต่างจังหวัด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลี้ยงหมาไว้เฝ้าบ้าน ถ้าจะกันโรคหมาบ้าให้ได้ ก็ต้องฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง กำจัดหมาแมวที่เลี้ยงไม่ไหว
เวลานี้ ชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้าคณะสัตว์แพทย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ช่วยเหลือออกไปทำหมันสุนัข แมว และฉีดวัคซีนให้ แต่ในสภาพปัจจุบันจำนวนสัตว์ที่มีอยู่มากเกิดกว่าจะดูแลได้ทั่วถึง

 
เมื่อถูกสัตว์กัด เลีย หรือข่วน จะทำอย่างไรดี

สัตว์ที่แพร่โรคได้ที่สำคัญ คือ หมา แมว และสัตว์อื่นดังกล่าวมาแล้ว ข้อพึงปฏิบัติ เมื่อถูกกัด เลีย หรือข่วนคือ

1. ดูลักษณะรูปพรรณสัตว์ที่กัดและติดตามถามหาเจ้าของจากผู้อยู่บริเวณนั้น

2.รีบล้างแผลด้วยน้ำ ฟอกสบู่โดยเร็วที่สุด วิธีล้างเอาน้ำลายและเชื้อที่อยู่ในน้ำลายออกจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

3.ตัดสินว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่หมาแมวที่เกิดดุร้ายกัดคนและสัตว์อื่นพร้อมกันทีเดียวหลายคนต้องถือว่าบ้าไว้ก่อน ควรทำลายเสีย

          ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของ อาการไม่เด่นชัด ให้ขังไว้ดูอาการ 10 วัน ( หรือราว2 อาทิตย์ก็ได้) ให้ข้าวให้น้ำกินด้วย ถ้าสัตว์ป่วยหรือตายในระยะที่ขังไว้นี้ให้ถือว่าเป็นโรคหมาบ้า
ถ้าสัตว์หนีหายไป ติดตามไม่ได้ให้ถือว่าเป็นโรคหมาบ้า
         
          ถ้าสามารถส่งซากสัตว์ตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ จะช่วยยืนยันให้มั่นใจได้ว่า สัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ถ้าตรวจจะมีประโยชน์มากในกรณีที่ขังสัตว์ไว้ดูอาการแล้วสัตว์ตายไม่รู้ว่า เป็นโรคอะไรหรือในรายที่หมาแมวที่เลี้ยงไว้ในบ้านเกิดตายโดยไม่รู้สาเหตุ มีคนถูกกัด ข่วน ถูกเลียก่อนมันตาย
สัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้หลายตัวที่มีอาการไม่เด่นชัด อาจเพียงแต่ซึมบางรายยังกินข้าวกินน้ำก่อนตาย
ถ้ายังติดตามได้ว่า สัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่เป็นปกติ หลังจากกัด ข่วน หรือเลียแล้วราว 2 สัปดาห์ก็ถือว่าสัตว์นั้นไม่เป็นโรคบ้า
เมื่อไหร่จึงจะฉีดวัคซีน

          เมื่อถูกกัด เลีย หรือข่วนดังกล่าวแล้ว และตัดสินใจได้ว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้าตามเกณฑ์ข้างต้น
ถ้า ถูกกัดเป็นบาดแผลใหญ่บริเวณใบหน้า ลำคอ ใกล้ศีรษะ และต้องการขังสัตว์ไว้ดูอาการ ควรเริ่มฉีดวัคซีนไปก่อน ถ้า 5 วันแล้วสัตว์นั้นยังแข็งแรงดีก็หยุดฉีด แต่ให้ขังไว้จนครบ 10 วัน ( หรือราว 2 อาทิตย์ ) ถ้ายังอยู่ดีก็ไม่ต้องฉีดต่อ แต่ถ้าสัตว์เกิดป่วยหรือตายในระยะ ที่ขังก็ให้ฉีดจนครบ
ใน รายบาดแผลใหญ่เช่นนี้ ควรได้รับการฉีดแอนติซีรั่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วยโดยเร็วที่สุด เพราะการฉีดวัคซีนอย่างเดียวอาจจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ทัน

วัคซีนที่มีใช้ในบ้านเรา

1. วัคซีนผลิตจากสมองแกะหรือวัคซีนเซมเบิ้ล ผลิตโดยสถานเสาวภาและองค์การเภสัชกรรม

2.วัคซีนผลิตจากสมองลูกหนูผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม
วัคซีน ทั้ง 2 ชนิดนี้ ใช้ฉีดป้องกันได้ผลดี แต่ต้องฉีดติดต่อกัน 14 วัน และกระตุ้นวันที่ 10, 20 และ 90 หลังเข็มที่ 14 วันที่ฉีดยาอาจคลาดเคลื่อนไปได้บ้างแต่ไม่ควรเกิน 4 วัน

3.วัคซีน ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง ผลิตโยบริษัท เมอเรียล ประเทศฝรั่งเศสจำหน่ายโดยบริษัท เมย์และเบเกอร์ ราคาประมาณเข็มละ 500 บาทวัคซีนนี้ได้ผลดี ฉีดเพียง 5-6 เข็ม โดยมีเว้นระยะกล่าวคือวัคซีนแรก วันที่ 3, 7 ,14, 30 และวันที่ 90
ผู้ฉีดวัคซีนเหล่านี้ อาจมีอาการแพ้ได้ นับแต่บวมแดงบริเวณที่ฉีด ซึ่งไม่เป็นอาการรุนแรงแต่ถ้า มีไข้ ปวดศีรษะ ชา แขนขาไม่มีแรง ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ฉีดทราบ เพราะอาจมีการแพ้วัคซีนที่รุนแรงตามมาได้ โดยเฉพาะวัคซีน 2 ชนิดแรก
 
 ข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้วัคซีน

เท่าที่มีผู้ถามเสมอ คือ

1. ถ้าหมาไม่เป็นบ้า แล้วไปฉีดวัคซีนป้องกันจะเป็นอันตรายหรือไม่
 
          คำตอบก็คือ ไม่ว่าหมาจะเป็นบ้าหรือไม่บ้า อันตรายที่จะเกิดจากการฉีดวัคซีนก็คือ การแพ้วัคซีนดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่ฉีด แต่ถ้าเราไม่มีทางที่จะรู้แน่ว่าหมาเป็นบ้าหรือไม่ก็จำเป็นต้องฉีดไว้ก่อน

2.เด็กฉีดขนาดเท่ากับผู้ใหญ่หรือไม่
          คำตอบก็คือ ฉีดขนาดเท่ากันไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่

3.คนท้องฉีดได้หรือไม่
          คำตอบก็คือ ถ้าคนท้องโดนสัตว์บ้ากัด เลีย หรือข่วนก็จำเป็นต้องฉีดวัคซีน

4. ถ้าเคยฉีดวัคซีนมาแล้ว โดนสุนัขบ้ากัดอีกต้องฉีดหรือไม่
          คำตอบก็คือ ถ้าอยู่ในระหว่างที่ฉีดยายังไม่ครบก็ให้ฉีดวัคซีนต่อไปจนครบ ถ้าฉีดครบแล้วเกิน 3 เดือน ก็ควรฉีดกระตุ้นอีก 1-5 เข็ม แล้วแต่ชนิดของวัคซีน ถ้านานเกินกว่า 1 ปี แล้วอาจต้องตั้งต้นใหม่

5. ถ้าจะฉีดกันไว้ก่อนแบบโรคคอตีบได้หรือไม่
          ในปัจจุบันบ้านเรายังไม่แนะนำให้บุคคลทั่วไปฉีดกันไว้ก่อน ยกเว้นคนที่ทำงานเกี่ยวกับการได้รับเชื้อเสมอๆ เช่น สัตว์แพทย์ เพราะวัคซีนที่ผลิตในประเทศ มีโอกาสแพ้รุนแรงได้ วัคซีนจากต่างประเทศก็มีราคาสูงแต่ในอนาคตอาจจะแนะนำให้ฉีดกันไว้ก่อนสำหรับ เด็กที่อยู่ในแดนโรคระบาดอย่างบ้านรา แต่ในคนที่ฉีดกันไว้ก่อนนั้น ถ้าถูกสัตว์บ้ากัดเอาก็ต้องฉีดเพิ่มเติมอีก.
 

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของนิตยสารหมอชาวบ้าน และ วิชาการ.คอม

เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/chapmanmaxine/dalmatian-puppies/

No comments:

Post a Comment