Tuesday, December 18, 2012

การปฐมพยาบาลสุนัข เบื้องต้น


อุบัติเหตุหรือความเจ็บไข้ได้ป่วยมักเกิดขึ้นได้เสมอ ผู้เลี้ยงจึงควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตสุนัข ก่อนที่จะนำไปหาสัตวแพทย์
ปวดท้อง ท้องผูก ถ้าสุนัขกินของแข็ง เช่น แก้ว กระดูก ถ่าน โลหะหรือของเด็กเล่นต่างๆ เข้าไปในท้อง ก็จะทำให้ปวดท้อง อย่าให้กินยาถ่าย แต่ให้ยาแก้ปวด เช่น ยาพวกบาริบิทูเรต และ กินอาหารที่มีลักษณะเหนียวๆ เละๆ เช่น ข้าวเหนียว หรือข้าวโพดเปียก หรือแป้งเปียก เพื่อให้ไปหุ้มวัตถุแข็งเหล่านั้นเสีย แล้วทำให้ลื่นผ่านทางเดินอาหารไปได้ ต่อจากนั้นจึงค่อยให้กินยาถ่าย และต้องกินอาหารอ่อนๆ อีกหลายวัน

ถ้าปวดท้องเพราะอาเจียน ก็ควรประคบด้วยการวางถุงยางหรือขวดใส่น้ำร้อนตามบริเวณกระเพาะ ซึ่งอยู่ตรงปลายกระดูกซี่โครงด้านซ้ายของสุนัข ถ้าปวดท้องแบบเสียดท้องนั้น จะบรรเทา อาการปวดได้ด้วยการให้น้ำหรือน้ำนม 1 ช้อนชา ถ้าปวดมากๆ จะให้บรั่นดี 1-2 ช้อนชา หรือเอาน้ำร้อนวางบริเวณที่ปวดเพื่อบรรเทาอาการ

แต่สำหรับสุนัขที่ท้องผูกโดยไม่มีอาการอย่างอื่น ควรใช้ยาเหน็บที่มีกลีเซอรีน หรือสบู่ที่ใช้สำหรับคนก็ได้ หรือจะใช้สวนทวารด้วยเครื่องสวรทวารที่ใช้สำหรับเด็ก โดยใช้น้ำสบู่หรือน้ำเกลือขับเข้าไปทางทวาร ถ้าเห็นว่าอาการไม่บรรเทาก็ควรพาไปหาสัตวแพทย์
ท้องเสีย เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง หนักเบาแตกต่างกันไป บ้างก็ถ่ายเหลวเป็นน้ำ เป็นมูกเลือด จนถึงออกมาเป็นเลือดสดๆ สาเหตุก็สุดแท้แต่ว่าจะเกิดจากได้รับเชื้อชนิดใดมา เช่น พาโวไวรัส, โปรโตซัว หรือเชื้อแบคทีเรียพวก อี.โคไล หรือแม้แต่สาเหตุที่ไม่ใช่จากเชื้อดังกล่าว แต่เพราะการเปลี่ยนอาหารทันทีทันใด เช่น จากอาหารสดๆ อาหารธรรมชาติมาเป็นอาหารสำเร็จรูป มักจะทำให้เกิดการท้องเสียหรือถ่ายเหลวกว่าปกติ บางคราวเกิดจากความเครียด ก็ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้

เมื่อสุนัขท้องเสีย ให้งดอาหารที่ให้ตามปกติลงชั่วคราว แล้วให้ยาแก้ท้องเสียของคนเพียงเล็กน้อยเพื่อบรรเทาอาการ ถ้าเป็นมากจนตาลึกโหลเพราะเสียน้ำมาก ก็ให้ป้อนน้ำผสมเกลือแร่เช่นเดียวกับที่ใช้ในเด็ก ให้กินที่ละน้อยๆ เพื่อบรรเทาอาการก่อนพาไปหาหมอ อย่าลืมสังเกตว่าอุจจาระมีลักษณะเช่นไร ถ่ายบ่อยครั้งแค่ไหน เพื่อที่จะให้บอกหมอถูก

อาหารติดคอ เศษอาหารหรือกระดูก หรือก้างปลา อาจจะตำหรือติดคอสุนัขได้บ่อยๆ อันที่จริงส่วนใหญ่แล้วเศษกระดูก ดังกล่าวมักจะติดขวางอยู่ในส่วนปากระหว่างฟันบนทั้งสองข้าง โดยแนบติดกับเพดานปากมากกว่าส่วนลำคอโดยตรง แต่ส่วนใหญ่จะเรียกอาหารติดคอ

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ควรสงบสติอารมณ์สุนัข ให้ลดความตกใจ อยู่นิ่งๆ แล้วอ้าปากสุนัข ค่อยๆ ใช้คีมหรือนิ้วมือสอดเข้าไปในปาก เขี่ยดูบริเวณเพดานปาก หยิบก้างปลาหรือกระดูกออก แต่ถ้าสุนัขไม่ยอมอยู่นิ่ง และไม่ยอมให้จับปาก ก็ต้องพาไปหาหมอ
แมลงสัตว์กัดต่อย บางครั้งสุนัขอาจถูกแมลงกัดหรือต่อย เช่น แมลงต่างๆ พวกตะขาบ ผึ้ง ต่อแตน แมลงป่อง รวมไปถึงสัตว์ใหญ่ๆ บางจำพวก เช่น คางคก หรืองูมีพิษ เป็นต้น ส่วนที่ถูกแมลงกัดต่อยมากที่สุดคือ ตามหน้าหรือขา หรือบริเวณที่มีขนบางๆ ถ้าสุนัขไม่แพ้ก็จะไม่มีอาการให้เห็น คือหายไปเอง แต่ถ้าสุนัขแพ้ จะเกิดอันตรายถึงตายได้ โดยจะมีอาการให้เห็น คือเกิดการบวมในบริเวณที่ถูกกัดต่อย หน้าบวมบิด แต่ถ้าแพ้มากๆ จะมีอาการกระสับกระส่าย ท้องร่วง อาเจียน ที่อันตรายมากคือหายใจไม่ออก

การปฐมพยาบาลสุนัขที่ถูกแมลงกัดต่อยก็คือ ให้รีบดึงเหล็กในออก แล้วใช้น้ำเย็นๆ ประคบ ก่อนนำไปส่งสัตวแพทย์ ถ้าถูกงูกัดให้รีดเอาเลือดออกจากบาดแผล แล้วขันชะเนาะ เพื่อป้องกันการดูดซึมของพิษงูตามกระแสเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ชักหรือกระตุก อาการชักในสุนัขเป็นการแสดงออกซึ่งการขาดการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หรือมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ไม่ว่าชักมากชักน้อย โดยไม่ถึงกับหมดความรู้สึกลักษณะของการชักก็แตกต่างกันไป เช่น กล้ามเนื้อกระตุกเป็นระยะๆ เหยียดเกร็งสี่ขา ตาเหลือก ลิ้นห้อย คอพับ ฯลฯ สาเหตุของการชักมีต่างๆ กัน เช่น เป็นโรคลมบ้าหมู เนื่องจากมีความผิดปกติในสมอง ขาดธาตุแคลเซียม หรือแคลเซียมในโลหิตต่ำลง เช่น กรณีแม่สุนัขเลี้ยงลูกจำนวนมากๆ ความกระทบกระเทือนในสมอง เช่น ถูกตีที่หัว ไข้สูงมากๆ เป็นโรคจิตประสาท มีพยาธิในหูหรือกินสารพิษบางชนิด ก็ทำให้เกิดอาการชักได้

เมื่อเห็นสุนัขมีอาการกระตุกหรือชัก ก็ควรจับสุนัขไว้ อย่าให้ได้รับอันตราย แล้วนำไปไว้ในที่เงียบๆ พยายามควบคุมอย่าให้หัวของสุนัขไปฟาดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะขณะชักสุนัขจะไม่รู้ตัว ทรงตัวไม่อยู่และเหวี่ยงหัวไปมา หาทางใช้ผ้าม้วนเป็นก้อนยัดระหว่างฟันกรามเพื่อป้องกันสุนัขกัดลิ้นตัวเอง แต่ต้องระวังสุนัขอาจสำลักเอาอาหารหลุดลงไปหลอดลม ทำให้หายใจไม่ได้ การใช้น้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำเย็นจัดวางบนหัว ตามตัว และนวดบีบที่หัวและคอ จะทำให้อาการคลายลง ก่อนนำไปส่งสัตวแพทย์
ช็อค สุนัขจะมีอาการช็อคดังนี้คือ นอนไม่รู้สึกตัว ลิ้นซีด เหงือกซีด ตัวเย็นเฉียบ โดยเฉพาะส่วนขาบริเวณปลายเท้าอ่อนแรงลง หายใจถี่เร็ว หมดความรู้สึกและตายในที่สุด

สาเหตุของสุนัขช็อคมีมากมาย แต่ที่พบเป็นส่วนใหญ่ก็คือ เนื่องจากปริมาณเลือดลดลงเพราะตกเลือด เสียเลือด ขาดน้ำหรือกระทบกระเทือนต่างๆ นอกจากนี้การช็อคอาจสืบเนื่องมาจากพิษของเชื้อโรคจำนวนแบคทีเรียที่หลุดเข้า ไปในกระแสเลือด ซึ่งสามารถทำให้สุนัขแสดงอาการช็อคเช่นเดียวการเสียเลือดได้

เมื่อเห็นว่าสุนัขมีอาการช็อค สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ แก้ปัญหาต้นเหตุของการช็อค เช่น เสียเลือดก็ต้องห้ามเลือด ช่วยการไหลเวียนของโลหิต เช่น จับทำให้สุนัขนอนหัวต่ำกว่าลำตัว เลือดจะสามารถไปเลี้ยงได้ดีขึ้น พร้อมทั้งนวดเฟ้นส่วนปลายขา ข้อเท้า ถ้าพบว่าสุนัขอยู่ในอาการเหงือกซีด ตัวเย็น ก็ให้จัดหาผ้าห่มมาห่มให้เกิดความอบอุ่น หากสุนัขยังพอรู้ตัวบ้าง อาจป้อนน้ำที่ผสมน้ำตาลหรือกลูโคสให้กินทีละน้อย เพื่อเป็นการให้พลังงานเฉพาะหน้า จากนั้นรีบนำส่งหมอ

แหล่งที่มา  http://www.dogandpuppystory.com / http://vet.kku.ac.th



No comments:

Post a Comment