Thursday, July 31, 2014

รักน้องหมา น้องแมว ... ให้ปลอดภัย




จากการศึกษาวิจัยทางจิตวิทยาทั่วโลกต่างเห็นพ้องกันว่า...  การที่เด็กๆได้ใกล้ชิดเป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยงนั้น ทำให้เด็กๆได้เรียนการเอาใจเข้ามาใส่ใจเรา เกิดเป็นความมีเมตตากรุณา เกิดการพัฒนาความมีศีลธรรมและจริยธรรม คุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยจึงยินดีที่จะนำสัตว์เลี้ยงมาเป็นเพื่อนกับลูกๆ  ซึ่งโดยมากก็มักจะเป็นลูกหมาหรือลูกแมว  เห็นเด็กๆ เล่นกับพวกมันอย่างมีความสุขก็ทำให้ผู้ใหญ่อย่างพวกเราพลอยสุขใจไปด้วย แต่...สิ่งที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่งก็ คือ ความปลอดภัยครับผม!

รักน้องแมวรักน้องหมา...ก็ต้องหมั่นพาไปตรวจสุขภาพ 
 
หมาน้อยน่ารักบางตัวอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกยาก (บลูเซลลา เมลิเทนซิส และ บลูเซลลา อะบอตัส) แต่ติดสู่คนได้ไม่ยาก  อย่าว่าแต่เด็กเลย แม้แต่ผู้ใหญ่หากได้รับเชื้อสายพันธุ์นี้ก็อาจเกิดอาการอัณฑะโต  ถ้าเป็นหญิงตั้งครรภ์ก็เสี่ยงต่อการแท้งบุตร  นอกนั้นก็อาจมีอาการอ่อนเพลีย  เมื่อยปวด และมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ 

รักน้องแมวรักน้องหมา...ต้องพาไปฉีดวัคซีน
 
น้องหมาอายุ 6 อาทิตย์ ก็พาไปหาหมอทำการถ่ายพยาธิได้แล้วครับ    

ถัดจากนั้นอีก 2 อาทิตย์ ก็ต้องฉีดวัคซีนรวม (รวมโรคไข้หัดสุนัข เลปโตสไปโรซิส-ตับอักเสบติดต่อ-ลำไส้อักเสบติดต่อ) แต่ถ้าช่วงนั้นกำลังมีโรคระบาด หรือ แม่ของเจ้าลูกหมายังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน กรณีนี้พอมันอายุ 6 อาทิตย์ก็ต้องฉีดวัคซีนโรคหัดสุนัข (ลำไส้อักเสบติดต่อ)ได้เลยครับ

เมื่อมันอายุ 12 อาทิตย์ก็พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้แล้วละครับ แต่ถ้าช่วงนั้นมีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า แม้น้องหมายังไม่ถึง12 อาทิตย์ก็ให้รีบพาไปฉีดได้เช่นกัน

ต่อมาเมื่อมันอายุ 16 อาทิตย์ ก็ต้องฉีดวัคซีนไข้หัดสุนัขอีก แล้วก็ทำการถ่ายพยาธิครั้งที่2
 
แล้วเมื่อน้องหมาย่างสู่วัย 6 เดือนก็ถึงเวลาของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอีกแล้ว...
 
เมื่อพูดถึง โรคพิษสุนัขบ้านั้นอย่าคิดว่าจะเกิดจากน้องหมาเท่านั้น น้องแมวก็เป็นโรคแสนสยองนี้ได้ แม้เปอร์เซนต์จะไม่มาก แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่  ถ้างั้นก็อย่าลืมพาเจ้าเหมียวไปฉีดยาด้วยละครับ 

นอกจากวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ยังมีวัคซีนป้องกันไข้หัดแมวที่เป็นสิ่งจำเป็น แถมข้อดีก็คือ วัคซีนไข้หวัดแมวปนด้วย ขณะเดียวกันควรถ่ายพยาธิประจำ ดูแลความสะอาด  ล้างมือทุกครั้งที่จับแมว

 
รักน้องแมวรักน้องหมา-อย่าให้กินเนื้อดิบๆ 

เพราะ เนื้อดิบหรือเครื่องในสัตว์ดิบๆ มักอุดมด้วยเชื้อโรคสารพัด โดยเฉพาะแบคทีเรียสายพันธุอันตรายที่ว่าพวกน้ำนมดิบไม่ว่าจะเป็นนมวัว นมแกะ นมแพะก็จะต้องผ่านการพาสเจอไรส์ หรือสเตอร์ริไรซ์ จึงจะดื่มได้อย่างปลอดภัย
 
รักน้องแมวรักน้องหมา-อย่าให้ตากฝน  
 
ฝนมาทีไร นอกจากนำความชุ่มฉ่ำมาให้ ยังนำความชื้นแฉะมาให้อีกด้วย และเจ้าความชื้นนี่แหละที่ทำให้เชื้อโรคเติบโตกันดีนัก หน้าฝนจึงต้องดูแลเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ พวกอาหารแห้งอาหารเม็ดของน้องหมาก็ต้องหมั่นตรวจให้ดีอย่าให้ขึ้นรา หรือเก่าเก็บ ส่วนอาหารสดก็ต้องปรุงให้สุก

นอกจากเรื่องดูแลอาหารการกินแล้ว อย่าปล่อยให้น้องหมาน้องแมวไปตากฝนหรือเล่นน้ำฝนนะครับ เพราะอาจทำให้มันน้ำมูกไหลมีไข้ขึ้น ถ้าเห็นว่าหมาแมวของเรามีอาการหนาวสั่น เซื่องซึม หอบหืด ท้องเสีย ก็ให้รีบพาไปหาคุณหมอ (สัตวแพทย์) เพื่อตรวจรักษา

หลายๆ บ้านเลี้ยงลูกหมาลูกแมวตั้งแต่แรกคลอด แล้วเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับเด็กๆในบ้านจนกลายเป็นเพื่อนรักที่ใกล้ชิดกันแทบตลอดเวลา แต่หลายครั้งอีกเช่นกัน ที่เด็กน้อยกลับโดนเจ้าเพื่อนรักขย้ำฝังเขี้ยวจนบาดเจ็บ ซึ่งโดยมากเกิดจากการที่เด็กเล็กเข้าไปกอดปล้ำฉุดดึงพวกมันในเวลาที่ไม่เหมาะสม ทำให้มันตกใจหรือโกรธ เช่นมันกำลังหลับปุ๋ย กำลังก้มหน้าก้มตากินอาหาร กำลังเจ็บป่วย
 
...หากลูกยังเป็นเด็กเล็กยังไม่ค่อยรู้ภาษา เมื่อเข้าใกล้สัตว์เลี้ยงจะต้องคอยดูลูกไม่ให้คลาดสายตา แต่ถ้าโตขึ้นอีกนิดพอฟังรู้เรื่อง ก็ต้องสอนลูกอยู่เสมอว่า....หมาหลับอย่าแหย่ เจ้าหนูของเราบางคนชอบจังเลยที่จะเอาไม้ไปแยงไปแหย่สัตว์เลี้ยงที่กำลังหลับ เด็กอาจคิดว่าจะปลุกมันให้ตื่นมาเล่นกัน โดยไม่รู้ว่าจะทำให้มันตกใจ 


หมาหิวอย่ายั่ว  เด็กบางคนอาจเห็นเป็นเรื่องสนุกที่จะดึงหางมันหรือดึงจานข้าวในขณะที่มันกำลังหิว

หมากัดกันอย่ายุ่ง  อาจเพราะต้องการให้พวกมันเลิกทะเลาะกันหรือเข้าช่วยเจ้าหมาของตนที่กำลังโดนเล่นงาน เลยเข้าไปแทรกกลางวง ผลก็คือโดนลูกหลงโดนพวกมันฟัดไปด้วย

หมาให้นมลูกอย่ากวน ต้องห้ามโดยเด็ดขาดเลยนะครับ เพราะพวกมันจะนึกว่าจะไปแย่งลูกทำร้ายลูก เลยต้องสู้เพื่อปกป้องลูกของมัน

หมาเห่าอย่าวิ่ง ข้อนี้สำหรับไปเจอเจ้าหมาที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงของเรา แล้วโดนมันเห่าใส่ หรือทำท่าน่ากลัวเหมือนจะเข้ามากัด เราต้องอย่าวิ่งหนีเพราะไม่มีทางวิ่งทันพวกมันแน่  วิธีแก้ไขสถานการณ์ก็คือ ให้ยืนนิ่งๆ ครับ เก็บแขนแนบลำตัว แล้วก็อย่าไปจ้องตาสู้ แล้วครู่เดียวเจ้าหมามันก็เลิกใส่ใจและล่าถอยไปเอง

อีกข้อสำหรับเมื่อเจอเจ้าหมาที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงของเรา หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงของเราเมื่อมีอาการดังนี้  หงุดหงิด งุ่นง่าน กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า กินอะไรๆ ก็ไม่ลง กลัวแสงสว่าง กลัวเสียงดัง น้ำลายยืดย้อยตลอดเวลา เสียงเห่าหอนฟังผิดปกติ 
หากเป็นดังนี้ต้องให้ระวังให้มาก เพราะมันคือ อาการของสุนัขบ้าครับ...


ทำอย่างไร!!!...ถ้าถูกกัด
 
1. รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำ (แม้จะไม่มีแผลก็ควรล้างคราบน้ำลายออก) โดยล้างผ่านน้ำก๊อกและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง จากนั้นใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำเกลืออุ่นๆ ทำความสะอาดรอบๆ แผล หรือใช้สำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทาบริเวณรอบๆ แผล การล้างแผลต้องทำให้ดีใน 6 ชั่วโมงหลังถูกกัด มิฉะนั้นแผลจะติดเชื้ออักเสบได้ง่าย 

2. แผลที่ติดเชื้อง่าย คือ แผลที่เป็นรูลึก ล้างให้สะอาดได้ยาก เช่น แผลแมวกัด ซึ่งเขี้ยวแมวจะแหลม เวลากัดไม่กระชากเหมือนหมากัด อีกอย่างหนึ่งคือบริเวณที่มีเส้นเอ็น เช่น มือ จะติดเชื้อได้ง่ายครับ 

3. กดบาดแผลด้วยผ้าสะอาดเพื่อห้ามเลือด ปกติประมาณ 5 นาที เลือดก็หยุดไหล แต่ถ้าไม่หยุดไหลอาจจะเป็นเพราะถูกเส้นเลือดใหญ่ หรือเด็กที่ถูกกัดเป็นโรคเลือดหยุดยากชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้องรีบพาไปหาแพทย์รักษาครับ

4. ถ้าสุนัขฉีดวัคซีนแล้ว และเจ้าของมีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าสัตว์เลี้ยงของเขาได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขเป็นที่เรียบร้อย และสังเกตเห็นว่าสัตว์ตัวนั้นไม่มีอาการผิดปกติ เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ถูกกัดก็ไม่ต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า 

5. หากไม่มั่นใจ ว่าหมา แมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ที่กัดจะเสี่ยงหรือไม่ ให้พาเด็กหรือผู้ใหญ่ที่โดนกัดไปสอบถามแพทย์ หากจำเป็นคุณหมอจะได้ให้ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (ภูมิต้านทานสำเร็จรูป) 


ความน่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้าจากอดีตกาลจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ คือ ยังไม่มีวิธีรักษาใดได้ผลเต็มที่ ดังนั้นอันตรายของมันก็ยังมีอยู่อย่างเต็มที่  จึงมีเพียงการรู้จักระมัดระวังการป้องกันไว้ก่อน และความรับผิดชอบของทุกคน

บทความโดย...ประจวบ  ผลิตผลการพิมพ์  
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment