Tuesday, April 22, 2014

ทำไม ไซบีเรียน ฮัสกี้ ไม่ค่อยเชื่อฟัง และกินยาก




          เป็นปัญหาที่คนเลี้ยง ไซบีเรียน ฮัสกี้ ส่วนใหญ่จะพบเจอและปวดหัวกันมากที่สุด และส่วนใหญ่หาทางออกกันไม่ได้ หรือแก้ไขกันด้วยวิธีที่ผิด อันจะเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมในทางลบให้กับสุนัขแทน

          ท้าวความถึงต้นกำเนิดของไซบีเรียน ฮัสกี้นั้น เดิมถูกใช้เป็นสุนัขลากเลื่อนในเขตหนาวอย่างไซบีเรีย ตอนเหนือของยูราเซีย หรือโซเวียตเดิม ซึ่งสุนัขเหล่านี้จะมีหน้าที่วิ่งลากหรือขนสำภาระของเจ้าของเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ บนพื้นหิมะ ที่ยานพาหนะใด ๆ ก็ไม่อาจเข้าถึงได้ และเนื่องด้วยภูมิประเทศส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหิมะ เป็นสีขาวเวิ้งว้างว่างเปล่าสุดลูกหูลูกตา สุนัขลากเลื่อนในทีมหนึ่ง ๆ อาจมีตั้งแต่น้อย ๆ จนถึงหลายสิบตัว ตามจำนวนน้ำหนักของที่จะขนไป โดยมีสุนัขตัวนำ หรือจ่าฝูงเป็นตัววิ่งนำหน้าสุดของทีม และเป็นผู้นำทางสุนัขที่เหลือรวมทั้งสัมภาระและมนุษย์ไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ

          แล้วคราวนี้เราลองนึกภาพดูสิครับ หลับตาแล้วนึกถึงดินแดนว่างเปล่าสีขาวโพลนไปหมด ทีมสุนัขลากเลื่อนทีมหนึ่งทำงานของมันโดยวิ่งไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผู้คุมเลื่อนที่อยู่ท้ายสุดของขบวนคือมนุษย์ ออกคำสั่งให้สุนัขวิ่งตะบึงไปข้างหน้า และด้วยสายตาของมนุษย์ พื้นที่ข้างหน้าที่เราเห็นนั้นดูเรียบเนียนเป็นสีขาวไปหมด เราก็สั่งให้สุนัขวิ่งต่อไปโดยไม่คิดอะไร

          แต่ใครจะรู้เล่า!! ว่าพื้นที่ข้างหน้าที่เราจะเหยียบลงไปนั้น ข้างใต้หิมะจะเป็นอะไร อาจจะเป็นธารน้ำแข็ง หุบเหวลึก หรือชะง่อนผาอันสูงชัน ซึ่งหากพลาดเพียงนิด นั่นหมายถึง ชีวิตของคุณจะจบสิ้นทันที

          แต่เราเหล่ามนุษย์ยังมีผู้นำที่มีประสาทการรับรู้ที่ฉับไว ประสาทการดมกลิ่นที่ยอดเยี่ยม และสัญชาตญาณที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในอันที่จะเอาตัวรอดในพื้นที่อันทรหดนี้มาตั้งแต่ยุคของสุนัขป่าโบราณ สุนัขลากเลื่อนเช่น ไซบีเรียน ฮัสกี้ ทุกตัวสามารถรับรุ้ได้ว่าข้างหน้านั้นมีอันตรายอะไรซ่อนอยู่ และเมื่อรับรู้ถึงสิ่งนั้น สุนัข จะเลือกตัดสินใจเชื่อสัญชาตญานของตนเองและหยุดชะงักลงโดยไม่ฟังคำสั่งใดๆ ของ มนุษย์ ไม่ว่า จะโบยด้วยแส้ หรือออกคำสั่งอย่างใดๆ ก็ตาม และนั่นเองคือการช่วยชีวิตมนุษย์อย่างเรา ๆ ไปโดยปริยาย 

 
          และ อุปนิสัยการเชื่อสัญชาตญาณของตนเองมากกว่าคำสั่งของมนุษย์นั้น ทำให้สุนัขลากเลื่อนเป็นสมบัติอันล้ำค่าของผู้ที่ต้องดำรงชีพในดินแดนที่ปกคลุมด้วยหิมะอันแสนทรหด เพราะหากไม่มีสุนัขเหล่านี้ พวกเขาอาจตายระหว่างการเดินทางไปแล้ว นับครั้งไม่ถ้วนก็เป็นได้ ผู้คนเหล่านี้รักสุนัขของเขามาก และไม่คิดว่าอุปนิสัยเชื่อตนเองมากกว่าเจ้าของของสุนัขเหล่านี้ จะเป็นอุปสรรค์ใด ๆ ต่อการอยู่ร่วมกับพวกมัน เพราะพวกมันคือจิตวิญญาณที่แท้จริงของป่าของธรรมชาติที่ยังไม่สาบสูญไปกับกาลเวลา

          จวบมาจนปัจจุบันนี้ ไซบีเรียน ฮัสกี้ ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง และอุปนิสัยเชื่อสัญชาตญาณมากกว่าคำสั่งของมนุษย์ที่มีค่าสำหรับมนุษย์น้ำแข็งนั้นได้ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงเจ้าลูก ๆ หน้าตาบ้องแบ๊วของเรา ๆ ทั้งหลาย แต่ตอนนี้อุปนิสัยแบบนี้ กลายเป็นปัญหาเมื่อ ไซบีเรียน ฮัสกี้ ไม่ต้องใช้ลากเลื่อนอีกแล้ว จนทำให้ใครหลาย ๆ คนปวดหัว แต่อยากให้ลองย้อนถามตัวเองสักนิดครับ ว่าเราควรเข้าใจสิ่งที่พวกเขาเป็นมาหลายร้อยปี หรือควรเปลี่ยนให้เขามาเป็นแบบเรากันแน่!!

          มาต่อกันด้วยเรื่อง ทำไมไซบีเรียนถึงกินยากจัง

          ก็อีกนั่นล่ะครับ เมื่อสมัยที่สุนัขยังถูกใช้ในงานลากเลื่อนอยู่นั้น ถิ่นที่อยู่ของพวกเค้าเป็นพื้นที่ทุรกันดาร อาหารมีอยู่น้อย และหายาก...สิ่งมีชีวิตในแถบขั้วโลกจึงปรับสภาพร่างกายของตนเองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ รวมถึงสุนัขลากเลื่อนอย่างไซบีเรียนของพวกเราด้วย

          โดยร่างกายของสุนัขในเขตหนาวนี้จะถูกปรับให้รับอาหารในปริมาณที่น้อย แต่อาหารที่รับเข้าไปนั้นส่วนใหญ่จะเป็นพวกโปรตีนและไขมันล้วน ๆ เพื่อให้ร่างกายอดทนต่อสภาพความหนาวเย็นของแถบขั้วโลกได้ และมีระบบเผาผลาญอาหารที่ช้ากว่าสัตว์ในเขตอบอุ่น โดยระบบย่อยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามสภาพอากาศที่เค้าอยู่ ร่างกายจึงสามารถเก็บสารอาหารไว้ใช้ได้ยาวนานกว่า จึงทำให้สุนัขลากเลื่อนในเขตหนาวไม่จำเป็นต้องกินอาหารบ่อย ๆ แต่ก็ยังมีเรี่ยวแรงหรือมีพลังงานในการที่จะวิ่งหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ

 
          ทั้งนี้ สุนัขลากเลื่อนในเขตหนาวนั้น จะมีอาหารหลักเป็นเนื้อสด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อแมวน้ำ สิงโตทะเล หรือเพนกวิน หรืออะไรก็ตามที่เจ้าของหามาได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีปริมาณไขมันสูงมาก ผู้คนในแถบขั้วโลกจะออกล่าโดยจะล่าเนื้อทีละมาก ๆ แล้วนำเนื้อที่ล่าได้มาฝังไว้ใต้พื้นหิมะหนาๆ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นห้องเย็นตามธรรมชาติ เนื้อจะไม่เน่าเปื่อยและเก็บได้นาน โดยสุนัขเหล่านี้จะได้รับอาหาร 3 วัน ต่อ 1 มื้อ โดยเจ้าของจะนำสุนัขเทียมเลื่อนออกไปยังที่ที่ใช้ฝังเนื้อที่ล่ามาได้ แล้วขุดออกมาตัดเป็นชิ้น ๆ แล้วโยนให้สุนัขกินทั้งแข็ง ๆ อย่างนั้นเลย โดยจะมีลำดับการกินตั้งแต่ตัวนำฝูงลงไปจนถึงตัวสุดท้ายของฝูงตามลำดับ...

          และด้วยอาหารเพียงเท่านี้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับที่จะให้สุนัขใช้เป็นพลังงานในการทำงานไปอีก 2 วัน จนกว่าจะได้กินในมื้อต่อ ๆ ไป

          ด้วยสภาพร่างกายที่สามารถรับอาหารในปริมาณที่น้อย แต่คงสภาพของพลังงานภายในร่างกายไว้ได้เป็นเวลานานกว่าสุนัขในเขตอบอุ่น จึงทำให้ไซบีเรียนตามธรรมชาตินั้น แม้ว่าจะไม่ได้กินอาหารครบถ้วนทุกมื้อ ก็จะไม่หมดเรี่ยวแรง หรือว่าหิวง่ายเหมือนสุนัขอื่น ๆ ทั่วไป เพราะร่างกายของเค้านั้นจะมีระบบย่อยอาหารที่ค่อยเป็นค่อยไป และมีระบบสะสมพลังงานจากสารอาหารเอาไว้ได้มาก เราจึงจะเห็นได้ว่า สุนัขของเราแม้จะกินอาหารน้อยหรือกินไม่หมดทุกมื้อ ก็ยังจะมีแรงวิ่งเล่นหรือมีแรงซนจนหอบได้เหมือนเดิมโดยไม่แสดงอาการว่าหิว หรือต้องการอาหารเลยในสุนัขบางตัว ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะนี่คือสภาพร่างกายตามปกติของสุนัขในเขตหนาว

 
          ปัจจุบันเมื่อ ไซบีเรียน ฮัสกี้ กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยง การไม่ยอมกินอาหารที่เจ้าของเฝ้าอุตส่าห์ประคบประหงมเอามาป้อนให้นั้น กลายเป็นปัญหาน่าปวดหัวสำหรับใครหลาย ๆ คน และผู้คนเหล่านั้นก็มักหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมสุนัขของตนถึงไม่ย๊อมมมมมมมม ไม่ยอมกิน และนี่ล่ะครับคือคำตอบสำหรับปัญหาของท่านทั้งหลาย

          คราวนี้คงจะเข้าใจกันบ้างแล้วนะครับ ว่าทำไมเจ้าไซบีเรียน ฮัสกี้ ของเราถึงดื้อและซนไม่ยอมเชื่อฟัง แถมกินก็ยากอีก

เรื่องโดย Little North
แหล่งที่มา Thailand Pet Journal, http://pet.kapook.com/view12303.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment