Friday, September 20, 2013

วิธีดูแล ... สุนัขท้อง



จากข้อแนะนำของ สพ.ญ.นันทพร บัวแย้ม สัตวแพทย์ประจำหน่วยสัตว์ป่วยใน โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า การสังเกตอาการว่า สุนัขตั้งท้องหรือไม่ มีอาการดังนี้ พฤติกรรมการทำรังคลอด โดยพยายามตะกุยฉีกกระดาษหรือสิ่งรองนอนต่างๆ

พฤติกรรม ของการเป็นแม่ พยายามเอาสิ่งของต่างๆ เข้ามารวม ไว้ใกล้ตัว น้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยปกติจะเกิดขึ้นหลังจากตั้งท้องได้ 4 สัปดาห์ การขยายใหญ่หรือบวมขึ้นของช่องท้อง เต้านมขยายใหญ่และมีน้ำนม

การให้อาหารสุนัขตั้งท้องควรให้ในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายเบาๆ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของภาวะการคลอดยาก

ลูกสุนัขในท้องจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็วในช่วง 5-4 สัปดาห์ก่อนคลอด แม่สุนัขจะมีน้ำหนักเพิ่มประมาณ 25-55% การให้อาหารจึงควรค่อยๆ เพิ่มปริมาณ

โดยเลือกอาหารที่มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและเกลือแร่ที่เพิ่มขึ้น ให้ปริมาณมากขึ้นในแต่ละมื้อ หรือเพิ่มจำนวนมื้อ

แม่สุนัขส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่ระยะใกล้คลอดจะแสดงอาการเบื่ออาหาร การเสริมแคลเซียมแทบจะไม่จำเป็นเลยถ้าสุนัขได้รับอาหารสำเร็จรูปที่ดีและมี ความสมดุลของสารอาหารอยู่แล้ว เพราะการให้แคลเซียมเสริมมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะไข้น้ำนมและการคลอดยากตามมาได้

การคาดคะเนวันคลอดที่แม่นยำที่สุดคือนับจากวันที่ไข่ตก เฉลี่ยประมาณวันที่ 12 ของการเป็นสัด (นับจาก วันแรกที่สุนัขมีเลือดออกจากอวัยวะเพศ) โดยสุนัขตั้งท้อง 63+/- วันนับจากวันที่ไข่ตก การสังเกตการคลอดของสุนัข


 
ระยะที่ 1 แม่สุนัขมีอาการเบื่ออาหาร กระวนกระวาย หอบ มักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันก่อนคลอด เต้านมขยายใหญ่มีน้ำนมไหลอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 1-2 สัปดาห์จนถึงไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอด มีพฤติกรรมหาที่คลอด ในระยะที่ 1 อาจจะกินเวลายาวนานถึง 6-12 ชั่วโมง เป็นระยะที่มีการคลายตัวของช่องเชิงกรานและเริ่มมีการบีบตัวของมดลูกร่วมกับ การเปิดปากของปากมดลูก

ระยะที่ 2 ปากมดลูกขยายเต็มที่ ลูกสุนัขจะเริ่มขยับตัวมาตามปากมดลูกและช่องคลอด การบีบตัวของมดลูกจะเกิดกับตัวลูกเฉพาะตัวที่อยู่ใกล้ปากมดลูกมากที่สุด เมื่อลูกสุนัขคลอดออกมาจะมีรกชั้นในห่อหุ้มตัว ส่วนชั้นนอกมักฉีกขาดเมื่อลูกสุนัขมาถึงปากมดลูก แม่สุนัขช่วยกัดหรือผู้เลี้ยงอาจช่วยฉีกรกชั้นในให้ แม่สุนัขจะเลียลูกเพื่อกระตุ้นการหายใจ ทำความสะอาดและกัดสายสะดือให้ลูก

ในกรณีที่แม่ช่วยลูกไม่เป็น ผู้เลี้ยงต้องช่วยโดยผูกสายสะดือและตัดให้เหลือประมาณ 1 นิ้ว แต้มปลายสายสะดือด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน ใช้ลูกยางดูดเสมหะและของเหลวออกจากจมูกและปากร่วมกับการใช้ผ้าสะอาดเช็ดและ ถูตัวเบาๆ ให้ลูกสุนัข

ระยะที่ 3 เป็นช่วงขับรก รกของลูกสุนัขแต่ละตัวมักจะออกมาพร้อมกับลูกในระยะที่ 2 อยู่แล้ว หรือออกตามหลังการคลอดของแต่ละตัวในเวลาประมาณ 5-15 นาที โดยทั่วไปการเกิดภาวะรกค้างในสุนัขเกิดขึ้นได้น้อยมาก ส่วนแม่สุนัขหลังคลอดจะมี น้ำคร่ำในช่วง 3 สัปดาห์แรกภายหลังการคลอด

ลูกสุนัขจะกินนม ทุก 2-3 ชั่วโมง ถ้าลูกสุนัขกินนมอิ่ม จะนอนสุมกัน ท้องขยายใหญ่ แต่ถ้าหิวนมจะร้อง ไม่ยอมนอน ในลูกสุนัขที่ไม่ได้กินนมแม่หรือแม่สุนัขมีนมไม่พอ ต้องให้นมผงสำหรับลูกสุนัขเสริม โดยอาจใช้ไซริงจ์หยดใส่ปาก หรือใช้ขวดนมสำหรับลูกสุนัข พยายามอย่าให้สำลักเข้าหลอดลม ลูกสุนัขต้องการพลังงานประมาณ 22-26 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 100 กรัม เมื่ออายุ 2-3 สัปดาห์น้ำหนักควรเพิ่ม 10-15% ต่อวัน

ลูกสุนัขที่ เกิดใหม่มักมีอุณหภูมิร่างกายค่อนข้างต่ำ ให้กกไฟ 60 วัตต์ ห่าง 1 ฟุต อย่าให้ร้อนเกินไปเพราะจะเกิดภาวะแห้งน้ำ ลูกสุนัขแรกคลอดมักเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ง่าย ดังนั้นควรแน่ใจว่าแม่สุนัขมีปริมาณน้ำนมเพียงพอ ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกันของ ลูกสุนัขแรกคลอดส่วนมากจะได้มาจากนมน้ำเหลืองจากแม่สุนัข 3 วันแรกหลังคลอด

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชาติ nachart@yahoo.com
ข่าวสด

No comments:

Post a Comment