Sunday, April 29, 2012

สุนัขไทยบางแก้ว (Bangkaew)


สุนัขไทยพันธุ์เดียวในประเทศไทยที่มีขนยาวสองชั้น หางเป็นพวง มีขน ขาหน้าคล้ายขนขาแข้งสิงห์แผงรอบคอคล้ายสิงโตมีความเฉลียวฉลาด

ประวัติสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว
ประวัติความเป็นมาของสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว จากข้อมูลที่ได้สอบถามจากประชาชนตลอดจนผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้าน บางแก้ว ตำบลท่านางงาม และบ้านชุมแสงสงคราม ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก พอจะสรุปได้ว่า แหล่งกำเนิดของสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วนั้นอยู่ที่วัดบางแก้ว ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม สภาพภูมิประเทศทั่ว ๆ ไปนั้นยังคงเป็นป่าพง ป่าระกำ ป่าไผ่ และต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ชุกชุม เช่นช้างป่าเป็นโขลง ๆ หมูป่า ไก่ป่า สุนัขจิ้งจอก และหมาใน

หลวงพ่อมาก เมธาวี เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ของวัดบางแก้ว ที่วัดของท่านเลี้ยงสุนัขไว้ ไม่ต่ำกว่า 20-30 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขที่ดุขึ้นชื่อลือชา และชาวบ้านทราบกันดีว่า ใครที่เข้ามาในวัดแต่ละครั้งจะต้องตะโกนให้เสียงแต่ไกล ๆ เพื่อให้พระอาจารย์มาก เมธาวี ท่านช่วยดูหมาเอาไว้ก่อน มิฉะนั้นจะถูกมันไล่กัด ด้วยกิตติศัพท์ในความดุของสุนัขที่วัดบางแก้วนี้เอง จึงมีผู้คนนิยมมาขอลูกสุนัขไปเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน เฝ้าเรือน เฝ้าเรือ เฝ้าแพ เฝ้าวัว เฝ้าควาย พื้นที่ที่สุนัขไทยพันธุ์บางแก้วได้ขยายพันธุ์ไปมากที่สุดก็คือ ตำบลท่านางงามและตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก แต่ในปัจจุบันได้ขยายวงกว้างออกไปหลายจังหวัด


เหตุผลที่สันนิษฐานว่า สุนัขไทยพันธุ์บางแก้วเป็นสุนัขลูกผสมสามสายเลือด เพราะพื้นที่ในเขตตำบลท่านางงาม ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ ในอดีตนั้นเป็นป่าดงพงพีที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งสุนัขจิ้งจอกและหมาในอาศัย อยู่เป็นจำนวนมาก โอกาสที่สุนัขจิ้งจอกและหมาในตัวผู้จะมาแอบลักลอบเข้ามาผสมพันธุ์กับสุนัข ไทยตัวเมียที่เลี้ยงไว้ในวัดบางแก้วนั้นมีความเป็นไปได้สูงมากทีเดียว เพราะสุนัขป่าทั้งหลายนี้เป็นสุนัขที่กล้าหาญชาญชัย ว่องไว ใจปราดเปรียว แข็งแรง ซึ่งเรื่องนี้ อาจารย์ท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[ต้องการอ้างอิง] ได้ตรวจโครโมโซมของสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วแล้วพบว่ามีโครโมโซมของสุนัข จิ้งจอกปะปนในโครโมโซมของสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว ซึ่งเป็นการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วสืบเชื้อสายจาก สุนัขลูกผสมระหว่างสุนัขบ้านกับสุนัขจิ้งจอก สุนัขไทยพันธุ์บางแก้วจึงมีลักษณะดีเด่นปรากฏโฉมออกมาคือ มีขนยาว ขนมีลักษณะเป็นขนสองชั้นคล้าย หางเป็นพวงสวยงาม มีขนแผงคอคล้ายแผงคอสิงโต ดุ เฉลียวฉลาด มีไอคิวสูง ไม่แพ้สุนัขพันธุ์ต่างประเทศ มีความสวยงาม

มาตรฐานสายพันธุ์

มีขนปุยยาว มีความสง่างาม ว่องไวและแข็งแรง เวลายืนมักเชิดหน้าและโก่งคอคล้ายม้า เป็นสุนัขขนาดกลาง รูปทรงตั้งแต่ช่วงขาหน้าถึงขาหลังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส อกกว้างและลึกได้ระดับกับข้อศอก ไหล่กว้าง ท้องไม่คอดกิ่ว หน้าแหลม หูเล็ก หางพวง ขนมีสองชั้น นิสัยรักเจ้าของ ฉลาดปราดเปรียว กล้าหาญ ค่อนข้างดุ สามารถฝึกหัดได้ ชอบเล่นน้ำมาก ขนาดเท่าสุนัขไทยทั่วไป หรือเล็กกว่าเล็กน้อย ไม่อ้วน ความสูงวัดที่ไหล่ ตัวผู้พ่อพันธุ์สูง 42-53 เซนติเมตร ตัวเมียแม่พันธุ์ 38-48 เซนติเมตร น้ำหนักตัวผู้ 14-16 กิโลกรัม ตัวเมีย 13-15 กิโลกรัม ลำตัว ช่วงตัวตอนหน้าใหญ่ ช่วงตัวตอนท้ายค่อนข้างเล็ก ลำตัวหนาปานกลาง อกลึกปานกลาง อกแคบ ยืดอกเวลายืน ส่วนเอวจะคอดน้อยกว่าหมาไทย ท้ายลาด สง่าเหมือนสุนัขจิ้งจอก ส่วนขา ขาหน้าจะใหญ่กว่าขาหลังเล็กน้อย ขาส่วนบนใหญ่และเรียวลงมาถึงข้อเท้า ตั้งตรงแข็งแรง ถ้าดูด้านข้างจะเห็นขนยาวเป็นเส้นตรงจากข้อเท้าด้านหลังขึ้นไปถึงข้อศอก เหมือนขาสิงห์ ขาหลังช่วงล่างมีทั้งตั้งตรงและเกือบตรง ช่วงบนด้านหลังจะมีขนยาว เป็นเส้นตรงขึ้นไปจนถึงโคนหาง เวลายืนท่าปกติจะรับน้ำหนักทรงตัวดี นิ้วเรียงชิดกัน ขนที่ปลายนิ้วยาวหุ้มเล็บ หัว กะโหลกใหญ่ ปากยาวแหลม คอยาวกว่าหมาไทยทั่วไป กะโหลกศีรษะและปากรับกันเป็นรูปสามเหลี่ยม หูเล็กสั้น ตั้งป้องไปข้างหน้า ปลายหูเบนไปข้างๆ เล็กน้อย โคนหูทั้งสองอยู่ห่างกันมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่น ๆ จึงใช้เป็นจุดเด่นในการสังเกตว่าเป็นสุนัขบางแก้ว ภายในหูมีขนปรายปิดรูหูอย่างสีดำมีแววของความไม่เชื่อใจใครง่ายๆ ขณะโกรธหรือขู่จะขึ้นแววฟ้า ใสแววที่เรียกกันว่า ตาเขียว จมูกสีดำ ฟันซี่เล็กข่าวคม มีเขี้ยวข้างบน 2 ล่าง 2 ลิ้นเป็นสีชมพู ส่วนมากไม่มีปานดำเหมือนสุนัขไทยทั่วไป ขนสองชั้น หนา ชั้นล่างละเอียดอ่อนนิ่ม ขนชั้นบนยาวเป็นเส้น เมื่อยังเล็กจะมีขนยาวปุกปุยแน่นทั่วตัว แต่เมื่อโตขึ้นจะมีขนยาวปานกลางแน่นทั้งตัว ขนที่กลางหลังตั้งแต่แผงคอไปยังโคนหางจะยาวกว่าขนบริเวณอื่น ๆ มีแผงขนเป็นชั้นช่วงสันหลัง เวลาโกรธจะฟูยกให้เห็นชัดเจน ด้านล่างจากข้อเท้าตอนล่างถึงโคนขาตอนบนจะมีขนยาวฟูพอประมาณ หางต้องเป็นพวง ถือเป็นลักษณะเด่นที่สืบทอดมาจากสุนัขจิ้งจอก

ลักษณะใบหน้า

1. ลักษณะหน้าเสือ ใบหน้าดูคล้ายเสือ มีกะโหลกศีรษะใหญ่ หน้าผากกว้าง โคนหูตั้งอยู่ห่างกัน หูเล็กแบะออกเล็กน้อย แววตาเซื่องซึม พื้นสีตามักจะเป็นสีเหลืองทองคล้ำ ม่านตาตรงกลางสีดำ มีขนย้อยจากโคนหูด้านล่างเป็นแผงที่คอ เรียกว่า แผงคอ แต่ไม่รอบคอ ขนมีทั้งฟูและไม่ฟู มีหางเป็นพวง ทั้งหางงอ และหางม้วน แลดูดุร้าย

2. ลักษณะหน้าสิงโต มีกะโหลกศีรษะเล็กกว่าลักษณะหน้าเสือ หูเล็กเป็นรูปสามเหลี่ยม ป้องไปข้างหน้ารับกับใบหน้าอย่างสวยงาม ปากไม่เรียวแหลมมาก ไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป มีขนยาวตั้งแต่โคนหูลงมาด้านล่าง เป็นแผงรอบคอ และมีขนเป็นเคราจากใต้คางย้อยลงมาเหมือนคอพอกลงมาถึงคอด้านล่าง ที่บริเวณรอบลำคอมีขนยาวโดยรอบ มีทั้งขนสั้นฟูและฟูยาว เมื่องมองจากดานหน้าจะมีลักษณะคล้ายสิงโต ลักษณะเท้ายาวอูม ขนยาวหุ้มปลายเท้าเล็กน้อย มองดูคล้ายเท้าหมี ขนมีทั้งยาวฟู สั้นฟู หางมีทั้งม้วนสูงและม้วนต่ำ เป็นพวงและไม่เป็นพวง ช่วงตอนหน้าใหญ่ตอนท้ายเล็ก ยามปกติแววตาและท่าทางเซื่องซึม แต่เมื่อเป็นศัตรูปรือคนแปลกหน้า จะเปลี่ยนเป็นดุร้ายและคล่องแคล่วว่องไวทันที ลักษณะหน้าสิงโตเป็นลักษณะที่หายากมาก นาน ๆ จึงจะพบเห็นสักตัวหนึ่ง

3. ลักษณะหน้าจิ้งจอก มีใบหน้าแหลม หูใหญ่กว่าลักษณะหน้าเสือและหน้าสิงโต ใบหูไม่ตรงโย้ออกด้านข้าง มองดูเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ปากแหลมเรียวและค่อนข้างยาว ขนอ่อนยาวเรียบ ขนหางเป็นพวง รูปร่างมีทั้งใหญ่ กลางและเล็ก อุปนิสัยไม่ค่อยดุร้ายเหมือนสองพวกแรก

แหล่งที่มา : วิกิพิเดีย

No comments:

Post a Comment