Friday, July 10, 2015

สุนัขหูอักเสบ


เจ้าของสุนัขมักจะนำสุนัขของตนเองมาพบสัตวแพทย์และมักจะมาบ่นให้ฟังอยู่เสมอว่า "หูสุนัขของตนเองมีกลิ่นที่เหม็นน่ารังเกียจมากเลย มันเป็นอะไรหรือค๊ะ/ครับ?" หรือ"แมวของชั้นชอบเกาหูมากเลย มีขี้หูดำมาก ชั้นจะทำอย่างไรดี" หรือ "สุนัขของผมชอบเอาหูไปถูไปกับพรม แต่ผมไม่พบว่ามีความผิดปกติใดๆ เลย ทำไมเจ้าตูบของผมจึงเป็นอย่างนั้น" เหล่านี้เป็นคำถามที่สัตวแพทย์ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ อาการของโรคหู

สุนัข หรือแมวที่มีอาการของโรคในช่องหู เราอาจจะพบว่าอาการเหล่านี้ได้

·         มีกลิ่น
·         มีการเกาหู หรือเอาหู (หัว) ไปถูกับวัตถุ
·         มีสิ่งคัดหลั่งออกมาจากช่องหู
·         ช่องหู หรือใบหูมีสีแดง หรือบวม
·         มีการสั่นหัว หรือเอียงหัวไปด้านใดด้านหนึ่ง
·         มีอาการเจ็บรอบๆหู
·         มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ซึม หรือหงุดหงิด

โรคของช่องหูเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากที่สุดในสัตว์เลี้ยง (ทั้งสุนัขและแมว) ส่วนใหญ่เป็นการอักเสบของช่องหูภายนอกที่เรียกว่า "otitis externa" ปัญหาช่องหูอักเสบพบได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสุนัขทั้งหมด จากการศึกษาสถิติการพบปัญหาช่องหูอักเสบในแมวพบได้ประมาณ 2 - 6.6 เปอร์เซ็นต์


สาเหตุของการเกิดช่องหูอักเสบ

ปัญหาโรคช่องหูสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เมื่อเราพบว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีปัญหาโรคของช่องหู สิ่งที่ต้องคิดถึงและเป็นสาเหตุโน้มนำที่เป็นไปได้ที่ทำให้เกิดปัญหาโรคของช่องหูภายนอกได้แก่ การแพ้ (allergies) เช่น

·         พยาธิภายนอก เช่น ไรในหู (ear mites)
·         จุลินทรีย เช่น แบคทีเรีย และยีสต์
·         สิ่งแปลกปลอม เช่น เกสรดอกไม้ หรือหนามของพืช
·         การได้รับบาดเจ็บ (trauma)
·         มีความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น hypothyroidism
·         สิ่งแวดล้อมภายในช่องหูที่ผิดปกติ เช่น มีความชื้นมากเกินไป และความผิดปกติทางกายวิภาคของช่องหู
·         มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือทางภูมิคุ้มกัน (immune conditions) และการเกิดเนื้องอก

การแพ้ (Allergies): สุนัขที่มีอาการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้อาหาร (food allergy) หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มันหายใจเอาเข้าไปในร่างกาย พบว่ามีบ่อยครั้งเหมือนกันที่ก่อให้เกิดปัญหาของช่องหูได้ ในความเป็นจริงปัญหาของช่องหูอาจจะเป็นอาการเริ่มแรกของอาการแพ้ด้วยซ้ำไป เนื่องจากการแพ้ที่เกิดขึ้นจะมีผลไปเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมภายในช่องหู ซึ่งเป็นเหตุโน้มนำทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือยีสต์แทรกซ้อนขึ้นมาได้ ถ้าเรารักษาแต่เพียงปัญหาการติดเชื้อแทรกซ้อน เราจะไม่สามารถกำจัดสาเหตุของปัญหานั้นได้ เราจำเป็นต้องรักษาปัญหาการแพ้ของสุนัขด้วย


พยาธิ (Parasites): ไรในหู หรือ ear mite ที่ชื่อว่า Otodectes cynotis เป็นไรที่พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาของช่องหูในลูกแมวที่พบได้บ่อยมากที่สุด สัตว์เลี้ยงบางตัวมีภาวะภูมิไวเกินไป (hypersensitivity)ต่อตัวไรมาก และมักทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง สัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะมีการเกาอย่างรุนแรง จนทำให้ใบหูและช่องหูเกิดบาดแผลจากการเกาได้
แบคทีเรียและยีสต์ (Bacteria and Yeast): มีแบคทีเรียและยีสต์มากมายหลายชนิด เช่น ยีสต์ Malassezia pachydermatis เป็นตัวสาเหตุของการติดเชื้อในช่องหูที่สำคัญ โดยปกติหูที่มีสุขภาพดีจะมีความสามารถในการป้องกันจากการติดเชื้อจุลินทรีย์นี้ได้ดี แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมในช่องหูมีการเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการแพ้ หรือมีความผิดปกติทางฮอร์โมน หรือมีความชื้น เชื้อแบคทีเรียและยีสต์จะสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เป็นผลทำให้ไปทำลายกลไกการป้องกันการติดเชื้อที่ร่างมีอยู่

สิ่งแปลกปลอม (Foreign Bodies): เกสรดอกไม้ หรือหนามของพืช (plant awns) ซึ่งอาจจะหักติดค้างที่เสื้อผ้าของเจ้าของ หรือที่ขนของมัน (แม้ว่าเป็นเพียงหนามสั้นๆ ก็ตาม) สามารถที่จะตกเข้าไปในช่องหูได้ ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อช่องหู สัตว์จะเกา ทำให้เกิดบาดแผลจากการเกาและติดเชื้อแทรกซ้อนก่อนที่เจ้าของจะทราบเสียอีก ดังนั้นเจ้าของควรทำความสะอาดตัวสัตว์เลี้ยงภายหลังจากที่นำมันไปเดินเล่นนอกบ้าน รวมทั้งจะได้ตรวจสอบหูไปในตัวด้วย
การได้รับบาดเจ็บ (Trauma): ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น การทำร้ายตัวจนเกิดบาดแผลที่ใบหู หรือช่องหู มักเป็นผลมาจากการเกาอย่างรุนแรงมากกว่า


ความผิดปกติทางฮอร์โมน (Hormonal Abnormalitites): ภาวะการขาดฮอร์โมน (deficiencies) หรือมีฮอร์โมนชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป (excesses) จะสามารถทำให้เกิดปัญหาของผิดหนังและช่องหูได้ ไธรอยด์ฮอร์โมน กลูโคคอร์ติคอร์ย ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต และฮอร์โมนเพศเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพบต่อสุขภาพของผิวหนังและหูทั้งสิ้น
สิ่งแวดล้อมในช่องหู (Ear Environment):แบคทีเรียและยีสต์ชอบที่อาศัยอยู่ในช่องหู ที่ซึ่งมีความอบอุ่น มืดและมีความชื้น สุนัขที่มีน้ำหนักมาก หรืออ้วน ใบหูพับลงอย่างสุนัขพันธุ์ค๊อกเกอร์สเปเนียล อาจจะพบว่ามีปัญหาของช่องหูมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่นๆ เพราะช่องหูมีความชื้นมาก

สาเหตุอื่นๆ (Other Cause: สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาทางช่องหู ที่พบได้คือ ปัญหาที่เกิดจากพันธุกรรรม แต่พบได้ยาก และมักพบได้ในบางพันธุ์เท่านั้น ซึ่งรวมถึง ปัญหาโรค dermatomyositis ในสุนัขพันธุ์คอลลี่ (Collies) และ Shetland sheepdog และผิวหนังอักเสบแบบเปรียก (seborrhea) ในสุนัขพันธุ์ Shar Peis และ West Highland White Terriers. ส่วนปัญหาโรค Eosinophilic granulomas จะมีความเกี่ยวพันกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและสามารถทำให้เกิดปัญหาในช่องหูของแมวได้เช่นกัน ภาวะเนื้องอกอื่นๆ หรือ เนื้อร้ายอย่าง squamous cell carcinomas, melanoma สามารถพบได้ในช่องหูเช่นกัน


การวินิจฉัย

เนื่องจากสาเหตุของการเกิดปัญหาของช่องหูมีมากมายหลายอย่าง เราจึงไม่อาจจะนึกถึงแต่เพียงว่า "มีการติดเชื้อในช่องหูเท่านั้น" แล้วให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวแล้วปัญหาจะหมดไป สิ่งที่จะต้องกระทำต่อไปให้มากกว่านั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น สัตวแพทย์อาจจะต้องใช้กล้องส่องตรวจช่องหู (otoscope) เพื่อตรวจดูช่องหูและประเมินการอักเสบของช่องหูที่เกิดขึ้น ถ้าการอักเสบนั้นเกี่ยวข้องกับเยื่อแก้วหู และตรวจหาสิ่งแปลกปลอม หรือเนื้องอก หรือสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาของช่องหู ถ้าต้องการตรวจสอบการติดเชื้อ สามารถทำการป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อ (swab) จากสิ่งคัดหลั่งในช่องหู และนำไปป้ายบนแผ่นสไลด์แก้ว ย้อมสีและส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตรวจหาตัวไร แบคทีเรีย หรือยีสต์ ได้ การซักประวัติสัตว์ป่วยและการตรวจร่างกายจะสามารถช่วยให้สามารถหาสาเหตุของ ปัญหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน หรือการแพ้ หรือจากพันธุกรรมหรือไม่ ถ้าสงสัยว่าปัญหาโรคในช่องหูอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุดังกล่าว การตรวจทดสอบเพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำต่อไป ถ้าการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดแรกที่ ให้กับสัตว์ การเพาะเลี้ยงเชื้อและการทดสอบความไวต่อยาปฏิชีวนะของเชื้อที่แยกได้จากช่อง หูเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรจะต้องกระทำก่อนที่จะเลือกใช้ยาชนิดอื่นต่อไป


การรักษา
การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น การให้ยาปฏิชีวนะจะใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนยาต้านเชื้อราจะใช้สำหรับการติดเชื้อยีสต์ การให้ยากลูโคคอร์ติคอร์ย เช่น เด็กซาเมธาโซนมักจะใช้เพื่อลดการอักเสบในช่องหู (ยาหยอด หรือยากิน) กรณีปัญหาช่องหูที่เกิดมาจากโรคอื่นๆในร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางฮอร์โมน หรือการแพ้ จะต้องให้การรักษาสัตว์ทั้งตัว ไม่เฉพาะแต่ช่องหู เช่น การเสริมฮอร์โมน หรือตรวจทดสอบการแพ้ เป็นต้น

การแพ้ (Allergies): การรักษาการแพ้มักจะรักษาด้วยการหมั่นทำความสะอาดช่องหูอย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำยาทำความสะอาดหู (ear cleaning solution) ยาแก้แพ้ (antihistamine) และการเสริมกรดไขมันบางชนิด ในบางครั้งอาจจะมีความจำเป็นต้องให้คอร์ติโคสเตรียร์รอยด์ ยาเหล่านี้อาจจะให้สัตว์ด้วยการป้อนให้กิน หรือในรูปฉีดก็ได้ หรืออาจจะให้ในรูปที่ใช้ทาภายนอกร่างกายก็ได้ การตรวจทดสอบการแพ้และการทำ immunotherapy(hyposensitization) อาจจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการรักษาปัญหาในช่องหู

ไรในหู (Ear Mites):ปัญหาไรในช่องหูมักทำให้ช่องหูแห้ง ดำ มีเศษเนื้อเยื่อเล็กๆ นิ่มๆ มีลักษณะคล้ายผงกาแฟอยู่ในช่องหู ปัญหาไรในช่องหูพบได้ในแมวมากกว่าในสุนัข (แล้วแต่พื้นที่) ภาวะดังกล่าวนี้ให้การรักษาด้วยการทำความสะอาดช่องหูและให้ยาฆ่าไรก็จะ สามารถจัดการกับปัญหาได้แม้วาการรักษาอาจจะต้องใช้เวลานาน(อาจเป็นสัปดาห์ใน บางราย)


ยีสต์ (Yeast): ยีสต์สามารถก่อให้เกิดปัญหาช่องหูที่มีความรุนแรงได้ เรามักจะพบว่ามีสิ่งคัดหลั่งในช่องหูมีลักษณะเป็นไขคล้ายขี้ผึ้งสีน้ำตาลและมีกลิ่นเหม็นมาก การทำความสะอาดช่องหูทุกวันอาจจะช่วยลดปัญหากลิ่นได้บ้าง แต่การติดเชื้อยีสต์ในช่องหูเป็นปัญหาที่ไม่สามารถที่จะกำจัด หรือรักษาให้หายได้ง่ายนัก การรักษาการติดเชื้อยีสต์ในช่องหูอาจจะต้องมีการรักษาที่พิเศษกว่าการรักษาตามปกติ เนื่องจากการให้ยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อยีสต์ได้ ถ้าสงสัยว่ามีการติดเชื้อยีสต์ในช่องหู ควรนำสุนัขไปปรึกษาสัตวแพทย์

การติดเชื้อแบคทีเรีย(Bacterial Infections): การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องหูสามารถทำให้มีกลิ่นเหม็นในช่องหูได้ รวมทั้งอาจจะพบว่ามีสิ่งคัดหลั่งสีเหลืองด้วย ถ้าปัญหามีความรุนแรงและเรื้อรัง การทำความสะอาดช่องหูเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการจัดการกับปัญหา และการให้ยาปฏิชีวนะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการรักษา และควรอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ ถ้าการติดเชื้อในช่องหูมีความรุนแรงมาก การติดเชื้อนั้นมีโอกาสแพร่ หรือรุกลามเข้าไปในช่องหูส่วนกลาง หรือส่วนในได้ การวินิจฉัยและหาสาเหตุของปัญหาให้เร็วที่สุดเป็นสิ่งที่จำเป็น

โดยปกติการรักษาสภาพช่องหูให้มีความสะอาดอยู่เสมอจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับสัตว์เลี้ยงของท่าน


 การทำความสะอาดหู

หูของสัตว์เลี้ยงมักจะเป็นรูปตัว "L" มากกว่าหูของคนและเศษเนื้อเยื่อ หรือขี้หูจึงมักจะถูกเก็บสะสมอยู่บริเวณมุมของตัว "L" การกำจัดขี้หูที่สะสมในช่อง หูสามารถทำได้ด้วยการใส่น้ำยาสำหรับทำความสะอาดหู(น้ำยาที่ดี)ลงไปในช่องหู น้ำยาล้างหูที่ดีควรมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ แต่ไม่ควรใช้วิธีการแทง กระแทก ควรบีบนวดบริเวณโคนหูประมาณ 20-30 วินาทีเพื่อทำให้เศษเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มและหลุ่ดออกมา ทำการเช็ดเอาเศษเนื้อเยื่อที่หลุดออกและใช้ก้านไม้ที่พันด้วยสำลีที่ชุบให้ชุ่มไปด้วยน้ำยาทำความสะอาดช่องหู ให้ทำซ้ำๆ กันจนไม่พบว่ามีเศษเนื้อเยื่อ หรือขี้หูหลงเหลืออยู่ในช่องหูอีก ถ้าสภาพภายในช่องหูมีเนื่อเยื่อ หรือขี้หูมาก อาจจะทำความสะอาดตามวิธีดังกล่าววันละ 2 ครั้ง

อาจจะใช้ก้านไม้พันด้วยสำลี หรือ cotton bud ในการทำความสะอาดช่องหู และด้านในของใบหู แต่ไม่ควรแหย่ให้ลึกเข้าไปในช่องหูมากนัก เพราะจะทำให้ขี้หู หรือเศษเนื้อเยื่ออัดกันแน่นภายในช่องหูมากกว่าเป็นการเขี่ยเอามันออกมา
สัตว์บางตัวพบมีว่าปัญหาของช่องหูที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเจ็บปวด การทำความสะอาด หรือขณะให้การรักษาอาจจะมีความจำเป็นต้องทำให้สลบเสียก่อน แต่ในบางครั้งสัตว์จะไม่ยอมให้ทำความสะอาดหูของมัน เพราะมันไม่ชอบ มันรำคาญ เจ้าของจะต้องพูดคุยกับมัน ให้มันผ่อนคลายในระหว่างที่ทำความสะอาด ถ้ามันเชื่อฟังควรต้องชมเชย ให้รางวัล
หลังจากทำความสะอาดหูแล้ว ปล่อยให้มันสั่น หรือสะบัดหัวได้และปล่อยให้แห้ง หลังจากนั้นจึงค่อยใส่ยาให้


การป้องกันโรคหู

หัวใจที่สำคัญในการทำให้ช่องหูมีสุขภาพดีคือ ความสะอาด ควรตรวจสอบช่องหูของสัตว์เลี้ยงของท่านทุกสัปดาห์ การพบว่ามีขี้หูเพียงเล็กน้อยถือว่าเป็นสิ่งปกติ ถ้าสัตว์เลี้ยงชอบเล่นน้ำมาก หรือมีใบหูยาวห้อย หรือมีประวัติโรคของช่องหู

แนะนำให้ทำความสะอาดช่องหูเป็นประจำ(2-3 ครั้งต่อสัปดาห์) ด้วยวิธีการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ถ้ารอบๆ ช่องหูมีขนยาวมาก ให้ตัดให้สั้น เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก การรักษาโรคของช่องหูควรรักษา หรือกำจัดสาเหตุของโรค ซึ่งเป็นเหตุโน้มนำทำให้เกิดปัญหาของช่องหูจึงจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

พึงระลึกไว้เสมอว่า ถ้าสัตว์เลี้ยงของท่านรู้สึกไม่สะดวกสะบาย กระวนกระวายอย่างมากแสดงให้เห็น ช่องหูมีกลิ่นเหม็นมาก หรือช่องหูมีความผิดปกติ ไม่ควรรีรอที่จะนำมันมาพบสัตวแพทย์ ถ้าเยื่อแก้วหูของสัตว์เลี้ยงของท่านเกิดความเสียหาย การใช้ยาบางชนิด หรือน้ำยาทำความสะอาดช่องหูบางชนิดอาจจะเป็นอันตรายมากกว่าเป็นการรักษา ดังนั้นจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์


Case-ช่องหูอักเสบ
เมื่อเช้ามีโอกาสไปรักษาสุนัข ช่องหูอักเสบ สุนัขเป็นของผู้หลักผู้ใหญ่   แถวๆนี้ สุนัขมีอาการ หูอักเสบ แดง มีคราบหนอง เกา ๆ

แนวทางการรักษา
ให้ ยาปฏิชีวนะ  ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ชนิดกิน และ ยาหยอดหู
และให้ทำความสะอาดด้วย Hydrogen peroxide  เจือจาง ด้วยน้ำเกลือ ทุกวัน
และทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ เท่านั้น เมื่อไม่มีคราบหนองแล้ว

อ้างอิงจาก เวป vet.ku.ac.th 

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment