วิธีการสังเกตุสุนัขว่าอาจจะเป็นแนวโน้มเป็นโรคไต
“โรคไต” เป็นโรคที่ทำการวินิจฉัยได้ยาก
เมื่อดูจากอาการภายนอกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไตมักสูญเสียการทำงานมากกว่า
75 % แล้วจึงจะแสดงอาการต่างๆ
ออกมา นอกจากนั้นยังมีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะอีกหลายระบบ
อาจทำให้มีอาการที่แสดงออกมาหลากหลายได้ ซึ่งสังเกตุได้ ดังนี้
1. กระหายน้ำมากขึ้น และปัสสาวะมากขึ้น
2. ความอยากอาหารลดลง
3. น้ำหนักลด
4. เชื่องช้า และใช้เวลาในการนอนมากขึ้น
5. มีกลื่นปากเหม็น
6. ร่างกายอ่อนแอ
7. เป็นแผลในช่องปาก อาเจียน และท้องเสีย
ความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง
เช่น มีก้อนนิ่วอุดตันในท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่ออก เกิดการคั่งของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน
มีผลทำให้สารพิษที่ควรขับออกไปพร้อมกับปัสสาวะเกิดการดูดซึมกลับขึ้นไปทำลาย ไต หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างก็มีโอกาสทำให้เชื้อโรคกระจาย
ขึ้นไปยังส่วนไตได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไต
เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นโรคไตภาวะเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้น
หรือไม่เกิดเลยก็ได้ ภาวะที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้
ภาวะร่างกายเป็นกรดมากกว่าปกติ ไตทำหน้าที่ปรับสมดุลความเป็นกรด- ด่างให้ร่างกาย
เมื่อไต เกิดความเสียหาย ความสามารถในการขับกรดทิ้งจะลดลง เมื่อกรดในเลือดสูงขึ้น
สัตว์จะซึม เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียน และอาจทำให้สัตว์ถึงกับชีวิตได้
ภาวะความดันโลหิตสูง มักจะแตกต่างจากในคนที่ระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง สาเหตุมักเกิดจาก ภาวะคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย
รวมทั้งภาวะที่ไตถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมน angiotensin ออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้มีความดันเลือดสูงขึ้น
หากปล่อยภาวะนี้ไว้นานๆ ไตเสียหายเร็วขึ้น หาก ความดันโลหิตสูงมากๆ จะทำให้เกิดเลือดออกในจอตา
สัตว์ อาจตาบอดได้ในที่สุด
ภาวะโลหิตจาง
เนื่องจากไตทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน erythropoietin ไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเป็นโรคไต ฮอร์โมนจะถูกสร้างลดลง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
ภาวะกระดูกพรุน
เกิดจากการคั่งของ ฟอสฟอรัส ในเลือด เนื่องจากไตขับทิ้งไม่ได้
เพื่อรักษาความสมดุลของ แคลเซียม และฟอสฟอรัสในร่างกาย จึงไปดึงเอาแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียมในเลือด
จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน
ภาวะของเสียคั่งในเลือด หรือที่เรียกว่า “ยูเรีย” ของเสียเหล่านี้มีความเป็นกรดสูง จึงไปรบกวนระบบเมตาบอลิซึม
ต่างๆ ของร่างกาย เช่น ในระบบทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดภาวะอาเจียน ท้องเสีย
ถ่ายเหลวเป็นเลือดสีดำ และถ้าเกิดการคั่งมากๆ
จะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทจนทำให้เกิดอาการชัก ภาวะนี้เราเรียกว่า “uremia”
เมื่อสัตว์เกิดภาวะนี้ขึ้น จำเป็นที่จะต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
การรักษาโรคไต
การรักษาโรคไตวายเรื้อรังนั้นสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเปลี่ยนไต
แต่เนื่องจากมีข้อจำกัด ค่อนข้างมาก ต้องหาผู้บริจาคเนื้อเยื่อไตที่สามารถเข้ากันได้
ค่าใช้จ่ายสูง ในเมืองไทยยังไม่ได้นำวิธีนี้เข้ามาใช้ในการรักษา เนื่องจากการผ่าตัดมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
แต่ในแมวมักได้ผลดีกว่าสุนัข
ดังนั้น
โดยทั่วไปการรักษาไตวายเรื้อรัง
มักรักษาตามอาการเป็นหลักและสามารถช่วยยืดชีวิตได้นานนับเป็นเดือนหรือปี
ต่างจากในรายที่เป็นภาวะไตวายเฉียบพลัน
จะรุนแรงมากกว่าถ้าไม่สามารถแก้ไขอย่างทันเวลา การรักษาสามารถทำการฟอกไต เช่นเดียวกับในมนุษย์
แต่มีข้อจำกัดที่การฟอกไตสำหรับสัตว์ในเมืองไทย จะใช้กับสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า
10 กิโลกรัม ไม่นิยมใช้ในแมว หรือสุนัขที่มีน้ำหนักตัวน้อยๆ
และใช้รักษาเฉพาะภาวะไตวายเฉียบพลันมากกว่าเรื้อรัง
ดังนั้น การวินิจฉัยที่รวดเร็ว การรักษา
และการพยากรณ์โรคที่ดีจะสามารถช่วยชะลอการพัฒนาของโรค และช่วยยืดอายุของสัตว์เลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
และมีความสุข
ข้อควรจำ
อาการเตือนอย่างแรกของการเกิดไตวาย คือ ความกระหายน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงของคุณดื่มน้ำมากกว่าปกติ
หรือสังเกตุเห็นอาการต่างๆ ที่กล่าวไว้ ควรรีบพาสุนัขของคุณไปพบแพทย์ทันที
แหล่งที่มา http://www.ladysquare.com
No comments:
Post a Comment