Monday, October 22, 2012

สุนัขของคุณอ้วนหรือผอมเกินไปหรือไม่




โรคเกี่ยวกับภาวะโภชนาการที่มักพบเสมอในสุนัขเป็นไปได้ทั้ง “ภาวะน้ำหนักเกิน” หรือโรคอ้วน ขณะเดียวกันมีสุนัขอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในภาวะตรงกันข้าม คือ มี น้ำหนักน้อยเกินไปซึ่งภาวะโภชนาการทั้งสองประเภทมีเหตุและปัจจัยต่างกันไป ถึงตรงนี้ผู้รักสุนัขทั้งหลายคงมีคำถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า สุนัขของตัวเองมีน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป

นายสัตวแพทย์อัคร ธรรมนิยม มีคำแนะนำดีๆ วิธีปฎิบัติง่ายๆ ในการจำแนกปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักของสุนัขว่า อ้วนหรือผอมเกินไปหรือไม่ โดยการสังเกตและสัมผัสรูปร่าง คือ ให้มองสุนัขจากด้านบนดูว่าเขามีเอวหรือไม่ ในสุนัขที่มีน้ำหนักกำลังดีนั้น จะเห็นเอวชัดเจน จากนั้นให้วางมือทั้งสองข้างบนซี่โครงของสุนัขให้แน่น เจ้าของควรจะรู้สึกได้ว่ากำลัง สัมผัสซี่โครง แต่ถ้าไม่รู้สึกถึงซี่โครงของเขา แสดงว่าสุนัขของคุณน้ำหนักมากเกินไปแล้ว แต่ถ้าคุณสามารถมองเห็น แนวซี่โครงได้ชัด โดยไม่ต้องใช้มือจับ นั่นแสดงว่าสุนัขผอมไปหรือมีน้ำหนักน้อย เกินไปนั่นเอง        

นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว หมออัครบอกว่า ยังมีเกณฑ์ตามหลักวิชาการที่บ่งบอกลักษณะสุนัขอ้วนหรือผอมเกินไปอยู่เหมือนกัน เริ่มจากการใช้ คะแนน ภาวะรูปร่างหรือ BCS ซึ่งย่อมาจาก Body Condition Score ซึ่งวิธีการนี้อาศัยการประเมินจุดตรวจภาวะรูปร่างของร่างกาย  (Body Condition Checkpoint) จำนวน 4 จุด ซึ่งแต่ละจุดจะมีคะแนนให้ต่างๆ กัน เมื่อตรวจเช็คครบทั้ง 4 จุด ก็เอาคะแนนที่ได้มารวมกัน แล้วหารด้วย 4 นำผลลัพธ์ที่ได้มาตัดสินภาวะรูปร่าง โดยจะได้ออกมาเป็นคะแนน 1-5 คะแนน ซึ่งสามารถแบ่งภาวะรูปร่างของสุนัขได้ดังนี้

ถ้าผลลัพธ์ได้ออกมา 1 คะแนน =  ขาดอาหาร
ถ้าผลลัพธ์ออกมาได้ 2 คะแนน = ผอม
ถ้าผลลัพธ์ออกมาได้ 3 คะแนน = หุ่นดี ไม่อ้วนไม่ผอม
ถ้าผลลัพธ์ออกมาได้ 4 คะแนน = น้ำหนักเกิน
และถ้าผลลัพธ์ออกมาได้ 5 คะแนน = โรคอ้วน
 

สำหรับเกณฑ์การให้คะแนนในแต่ละจุดตรวจนั้น ประกอบด้วย
 
จุดตรวจที่ 1 ซี่โครง
ก. คลำซี่โครงไม่เจอ ต้องขุดหาถึงจะพบได้ ได้ 5 แต้ม
ข. มองซี่โครงไม่เห็น แต่สามารถคลำพบได้โดยง่าย ได้ 3 แต้ม
ค. มองเห็นด้วยตาเปล่า โดยไม่ต้องคลำ ได้ 1 แต้ม

จุดตรวจที่ 2 หัวไหล่
ก. มีก้อนไขมันหนาปกคลุมหัวไหล่ ได้ 5 แต้ม
ข. หัวไหล่กลมมน ได้ 3 แต้ม
ค. มองเห็นกระดูกหัวไหล่ได้อย่างชัดเจน โดยไม่มีไขมันปกคุลมเลย ได้ 1 แต้ม

จุดตรวจที่ 3 หลัง
ก. มองไม่เห็นกระดูกสันหลังด้วยตาเปล่า ต้องขุดหาจึงจะพบได้ ได้ 5 แต้ม
ข. มองกระดูกสันหลังไม่เห็น แต่สามารถคลำพบได้โดยง่าย ได้ 3 แต้ม
ค. มองเห็นด้วยตาเปล่า โดยไม่ต้องคลำ ได้ 1 แต้ม

จุดตรวจที่ 4 สะโพก
ก. มีไขมันหนาปกคลุมกระดูกเชิงกรานจนมองไม่เห็นกระดูกเลย ได้ 5 แต้ม
ข. ไขมันและกล้ามเนื้อปกคลุมเชิงกรานบาง ๆ ซึ่งสามารถคลำพบกระดูกเชิงกรานได้ ได้ 3 แต้ม
ค. มองเห็นกระดูกเชิงกรานได้อย่างชัดเจน ได้ 1 แต้ม
        
ขณะเดียวกัน ก็มีวิธีการประเมินอีกวิธี โดยใช้แผนภาพระบบภาวะรูปร่าง (Body Condition System Chart) โดยประยุกต์มาจากรูปแบบของเนสท์เล่ เพียวริน่า ซึ่งจำแนกออกเป็นระดับ 1-5 ซึ่งเจ้าของสามารถใช้ระบบนี้  ประกอบการติดตามประเมินผลรูปร่างของสุนัขได้เช่นกัน หมออัครระบุว่า แต่ละระดับมองจาก 2 มุม คือ  ด้านบนกับด้านข้าง โดยแบ่งเป็นระดับ 1-5 ได้ดังนี้

1.ผอมแห้งขาดอาหาร (Lean) กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกรานและกระดูกต่าง ๆ สามารถมองเห็นได้โดยง่ายแต่ไกล เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ไม่มีไขมันใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อลีบอย่างเห็นได้ชัด
2.ผอม (Thin) สามารถคลำพบกระดูกซี่โครงได้โดยง่าย โดยมีไขมันใต้ผิวหนังเล็กน้อย เอวคอด เมื่อมองจากด้านบน และเมือมองด้านข้างลำตัวจะพบว่าท้องแฟ่บอย่างเห็นได้ชัด
3.หุ่นดี (Ideal) สามารถคลำกระดูกซี่โครงได้แต่มองไม่เห็น มีเอวเมื่อมองจากด้านบน และท้องแฟ่บเล็กน้อยเมื่อมองจากด้านข้าง
4.น้ำหนักเกิน (Overweight) สามารถคลำกระดูกซี่โครงได้โดยมีไขมันส่วนเกินปกคลุมหลัง ทำให้หลังแบนเป็นกระดาน เอวหาย มองเห็นเป็นทรงกลม ตั้งแต่หัวไหล่ เอว สะโพก ท้องเริ่มย้อยเมื่อมองจากด้านข้าง
5.อ้วนพี (Obese) มองไม่เห็นชายโครง คลำก็ไม่พบ มีก้อนไขมันปกคลุมมากมาย ทำให้หลังโป่งนูนขึ้นมา เมื่อมองจากด้านบนลงมาเหมือนตุ่มน้ำ คือ หัวไหล่เล็กค่อย ๆ เริ่มใหญ่มาที่เอวและสะโพก ท้องย้อย ลงพุงอย่างเห็นได้ชัด
               
หลังเจ้าของประเมินรูปร่าง สุนัขของคุณแล้ว หมออัครมีคำแนะนำข้อปฎิบัติในการดูแลมาให้ด้วยว่า เริ่มจาก กรณี สุนัขมีน้ำหนักมากเกินพิกัด หรืออ้วนเกินไป ซึ่งยังแบ่งออกเป็นสุนัขพันธุ์ขนาดเล็ก และสุนัขสายพันธุ์ขนาดใหญ่ ที่แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีโรคประจำสายพันธุ์  โดยปัญหาภาวะโภชนาเกินในสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ มักจะมีเรื่องของข้ออักเสบหรือเสื่อมโดยเฉพาะข้อสะโพกตามมา เพราะขารับน้ำหนักไม่ไหวเวลาเดิน และถ้าเป็นสุนัขที่อายุมากด้วยจะยิ่งเป็นปัญหาหนัก
    
            
สำหรับ วิธีการรักษานั้น คุณหมอแนะนำว่า ที่จริงอยากให้เป็นในลักษณะของการป้องกันไม่ให้เกิดมากกว่าเป็นแล้วถึงไปรักษา เพราะกรณีที่สุนัขน้ำหนักมากและมีปัญหาข้ออักเสบแล้วจะยิ่งรักษายาก ทั้งนี้ ในการรักษานั้น ถ้าเป็นกรณีที่สุนัขยังไม่มีปัญหาน้ำหนักเกินแต่ดูแนวโน้มแล้วว่าจะอ้วนแน่  หมอจะแนะนำเจ้าของเริ่มควบคุมน้ำหนักสุนัขเสียก่อน ซึ่งนอกจากให้ออกกำลังกายด้วยการเคลื่อนไหวให้มากขึ้นแล้ว ยังจะแนะนำให้คุมอาหาร ที่ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปสำหรับการลดน้ำหนัก อันมีส่วนประกอบไฟเบอร์สูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ โปรตีนต่ำ
               
ส่วนกรณี สุนัขมีปัญหาน้ำหนักเกิน และมีปัญหาเกี่ยวกับข้อกระดูกแล้ว หมออัครจะแนะนำให้ลดน้ำหนัก และจำกัดอาหาร แต่จะมีปัญหาในการรักษา เพราะสุนัขจะไม่ค่อยอยากเดิน เนื่องจากมีอาการเจ็บ ซึ่งยิ่งไม่เคลื่อนไหว น้ำหนักก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น อาการเจ็บตามข้อก็เพิ่มระดับความรุนแรงไปด้วย  เมื่อถึงจุดนี้หมอจะต้องใช้วิธีการกายภาพบำบัดเข้ามาช่วย อาทิ การให้เดินสายพานน้ำ (water threadmill) เป็นการออกกำลัง โดยใช้น้ำเป็นตัวลดแรงกระแทกของกระดูก โดยการช่วยพยุงไม่ให้ขาต้องรับน้ำหนักจากการเดินมากเกินไป ดังนั้น สุนัขจะไม่รู้สึกเจ็บปวดจากการเดินหรือออกกำลังกาย ซึ่งมีงานวิจัยออกมารองรับแล้วว่ารักษาได้จริง หรือถ้าเจ้าของไม่สะดวกในการพาสุนัขไปที่คลินิก เพื่อเดินสายพานน้ำ เราก็สามารถช่วยสุนัขได้ง่ายๆ โดยการใช้ผ้าพยุงตัวสุนัข โดยใช้ผ้าสอดผ่านใต้ท้องสุนัขโดยส่วนหน้าให้อยู่ใต้รักแร้ และส่วนหลังให้อยู่บริเวณขาหนีบ แล้วช่วยพยุงให้เค้าเดิน เพื่อสุนัขจะได้ไม่ต้องลงน้ำหนักที่ขามากเกินไป สำหรับปัญหาในสุนัขพันธุ์เล็กนั้น มักมีโรคประจำสายพันธุ์เกี่ยวกับข้อเข่าที่ขาหลัง คือ ภาวะลูกสะบ้าเคลื่อนเข้าด้านใน (medial patella luxatation) ซึ่งการรักษาจริงๆในรายที่มีอาการมากนั้น ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดเท่านั้น แต่หากสุนัขของเรายังมีอาการไม่มาก เราสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตเค้าได้โดยการควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป เพื่อลดการรับน้ำหนักที่ขาหลัง
               
ทีนี้มาถึงวิธีการ ดูแลสำหรับสุนัขผอม หรือน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์กันบ้าง ซึ่งหมออัครบอกว่า ส่วนใหญ่แล้วปัญหาสุนัขน้ำหนักน้อยมักจะเกิดจากความเจ็บป่วย เป็นโรค เพราะปกติสุนัขมักจะไม่ค่อยผอม ถ้าเจ้าของพามาพบหมอ อย่างแรกคงต้องสันนิษฐานอย่างแรกก่อนเลยว่า สุนัขอาจเจ็บป่วยจากโรค ต้องวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร ถ้าเกิดจากพยาธิ ก็ต้องให้ทานยาถ่ายพยาธิ หรือทานข้าวได้น้อย ก็ต้องให้วิตามินบำรุง อาทิ Fish oil โอเมก้า -3 โอเมก้า - 6 บำรุงร่างกาย หรืออาจให้ยาช่วยเพิ่มความอยากอาหาร เป็นต้น

 แต่จากประสบการณ์แล้ว ปัญหาภาวะโภชนาการในสุนัขนั้น 80% มักจะเป็นปัญหาเรื่องอ้วนมากกว่า ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ตามมา  ถ้าผอมส่วนใหญ่จะมาจากอาการเจ็บป่วย เมื่อรักษาหายแล้ว สุนัขก็จะกลับไปรับประทานอาหารได้ตามปกตินายสัตวแพทย์อัครระบุ
               
ได้ข้อมูลมากมายอย่างนี้แล้ว ลองกลับไปสังเกตสุนัขที่บ้านของคุณว่า เข้าข่ายโอเวอร์เวท หรือโลเวอร์เวท จะได้จัดระเบียบการเลี้ยงดูเสียใหม่ ให้เกิดสมดุล สุขภาพเขาจะได้ดีขึ้น ห่างไกลโรคภัยต่างๆ

แหล่งที่มา    www2.nestle.co.th 
เครดิตภาพ  http://dogsanddoubles.com/phototbdc/pictures-of-puppies-playing-in-the-snow



No comments:

Post a Comment