หากลิสต์รายชื่อสัตว์เลี้ยงที่มีความใกล้ชิดกับคนนั้น ‘สุนัข’ มักจะเป็นชื่อลำดับต้นๆ
ที่นึกถึงเสมอ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสุนัขเป็นได้ทั้งเพื่อนเล่นคลายเหงา เป็นยามเฝ้าบ้าน
หรือแม้แต่มีไว้ใช้งานตามความสามารถที่ฝึกฝนขึ้นได้ เช่น นำทางคนตาบอด หรือแม้แต่เป็นผู้ช่วยตำรวจในการใช้จมูกดมกลิ่นหาสิ่งผิดกฎหมาย
ในทางตรงกันข้าม
เรื่องราวด้านลบเกี่ยวกับสุนัขก็เกิดขึ้นเป็นระยะ บ่อยครั้งจะมีข่าวสุนัขทำร้ายคน
โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ จนโจทก์ขานกันว่า "สุนัขไม่ถูกกับเด็ก"
เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?...\
ข้อสงสัยดังกล่าว
หมอตั๋ง หรือ นายสัตวแพทย์บูรพงษ์ สุธีรัตน์
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน เผยกับ เดลินิวส์ออนไลน์ ว่า
การจะเหมารวมว่าสุนัขทั้งหมดไม่ถูกกับเด็กนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีเงื่อนไขอยู่หลายอย่างที่ต้องพิจารณาก่อนฟันธง
เช่นเรื่องสายพันธุ์ ขนาดตัว การเลี้ยงดู อุปนิสัย สิ่งแวดล้อม วัตถุประสงค์ในการเลี้ยง
เป็นต้น
ดังนั้น
หากเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่ นิสัยดุร้าย เลี้ยงเพื่อเฝ้าบ้าน
ประกอบกับขาดการเอาใส่ใจเลี้ยงดู และฝึกฝนอย่างไม่เหมาะสมด้วยแล้ว สิ่งเหล่านี้ อาจหลอมรวมให้สุนัขมีความรู้สึกในทางลบหรือเลวร้าย
(Bad
Impression) เมื่อสุนัขถูกแกล้ง ทำให้ตกใจ หรือมีคนวิ่งหนี ก็จะกระตุ้นให้สุนัขแสดงความรุนแรง
และทำร้ายคนได้
นอกจากนี้
ต้องย้อนคิดถึงตอนที่สุนัขยังเล็ก มีขนาดตัวไม่โต เคยถูกเด็กแกล้งหรือไม่ หากพบว่า
เคย ก็มีความเป็นไปได้ว่า สุนัข จะจดจำภาพเด็กตัวเท่านั้นเท่านี้มาทำร้ายทุบตีหรือแกล้งในตอนที่สุนัขยังไม่สามารถตอบโต้ได้ และแล้วเมื่อเวลาผ่านไป สุนัขตัวนั้นเติบโตขึ้น มีความแข็งแกร่ง
มีเคี้ยวเล็บพร้อม หากมีเด็กขนาดตัวพอๆ กับภาพในความทรงจำ มาแกล้งสุนัขอีก
คราวนี้ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่สุนัขจะทำร้ายหรือเอาคืน เพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งกรณีเช่นนี้
แม้จะเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่เป็นมิตร เช่น โกลเดนท์
ก็อาจดุร้ายขึ้นมาได้เมื่อถูกแกล้ง หรือแหย่ถูกปม
วิธีการลดโอกาสสุนัขใช้ความรุนแรง
หรือกัดคน กัดเด็กจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้น หมอตั๋ง แนะให้ผู้ที่คิดจะเลี้ยงสุนัขศึกษาข้อมูลหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ
นิสัยพื้นฐาน การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่จะนำสุนัขไปอาศัย และวัตถุประสงค์การเลี้ยง
เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวบอกว่า สุนัขแบบไหนที่คุณควรเลี้ยง
และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน หมอตั๋งยกตัวอย่างว่า บ้านที่มีเด็กเล็กและคนวัยชรา
มีพื้นที่ไม่มาก จะไม่เหมาะกับการเลี้ยงสุนัขใหญ่
เพราะสุนัขพวกนี้เวลาเล่นจะใช้แรงมาก การกระโจนเข้าใส่จึงอาจทำให้คนได้รับบาดเจ็บได้
อย่างไรก็ตาม
การจะเลี้ยงสุนัขจำเป็นต้องเลี้ยงดูตั้งแต่สุนัขยังเด็ก เพราะจะทำให้สุนัขรับรู้ถึงความใส่ใจในการดูแล
ผู้เลี้ยงสามารถฝึกฝนพฤติกรรมและนิสัยที่เหมาะสมให้ได้ ที่สำคัญควรให้สุนัขพบปะกับผู้คนบ่อยๆ
และต้องไม่แกล้ง ไม่ทำร้ายสุนัข จะช่วยลดพฤติกรรมเลวร้ายของสุนัข
ส่วนผู้เลี้ยงสุนัขก็ควรสังเกตนิสัยใจคอ และปรามหรือควบคุมให้ได้หากสุนัขดื้อขึ้นมา
ที่จริงแล้วทุกคนในครอบครัวควรควบคุมสุนัขให้ได้
หรืออย่างน้อยต้องมีสักคนที่ควบคุมสุนัขได้ทุกสถานการณ์
การรู้เท่าทันพฤติกรรมส่อดุร้ายของสุนัขก็สำคัญ
หมอตั๋งแนะให้สังเกตสายตา จดจ้องอยู่แต่เป้าหมาย ขนกลางหลังตั้งชัน หางตั้งชี้ตรง
ตั้งท่าพร้อมกระโจน และส่วนมากมักส่งเสียงขู่ เหล่านี้ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า
สุนัขอาจทำร้าย เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ คนไม่ควรวิ่ง
เพราะการวิ่งจะทำให้สุนัขคิดว่า คนเป็นฝ่ายแพ้ คนเสียเปรียบ คนเป็นเหยื่อ
สุนัขจึงคุกคาม และแสดงความดุร้ายใส่ นอกจากจะไม่ควรวิ่งหนีแล้ว ต้องตั้งสติ
อย่าแสดงความกลัว แล้วค่อยๆ เลี่ยงออกมา ทว่าการใช้เสียงแข็งเพื่อข่ม
หรือมีอุปกรณ์ เช่น ท่อนไม้ ถืออยู่ในมือ ก็สามารถช่วยปรามสุนัขได้ส่วนหนึ่ง
ในบางประเทศ
หากเกิดเหตุการณ์สุนัขดุร้ายหรือทำร้ายคน พวกเขาจะแก้ปัญหาโดยไม่นำสุนัขตัวนั้นไปขยายพันธุ์ต่อ
อาจถูกพิจารณาฉีดยาให้เสียชีวิต หรือแม้แต่เป็นสุนัขตัวที่อยู่ในสายพันธุ์นิสัยเป็นมิตรก็ตาม
เมื่อถูกลงความเห็นว่า มีนิสัยผิดแปลกไปจากสายพันธุ์ปกติแล้ว อาจถูกแก้ปัญหาโดยใช้ทางออกเดียวกันนี้
สุนัขก็เป็นสัตว์ที่มีชีวิตจิตใจเหมือนกับคนเรา
หากเลี้ยงดีก็โตมาดี เลี้ยงไม่ดีก็มีสิทธิ์เสีย (นิสัย) หมา.
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
No comments:
Post a Comment